เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 19 มิ.ย.2562 ที่ บก.ปอศ.พล.ต.ท. ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผบ.ตร. ในฐานะรองผอ.ศปอส.ตร. พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผบก.ปอศ. พ.ต.อ. พุฒิพงศ์ มุสิกูล รองผบก.ปอศ. พ.ต.อ.จักรกริช เสริบุตร ผกก.1บก.ปอศ.พ.ต.ท.อัณณ์ณพ อิ่มอุดม รอง ผกก.1 บก.ปอศ., เภสัชกร ประพนธ์ อางตระกูล ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเจ้าหน้าที่บก.ปอศ ร่วมกันแถลงข่าวผลกการตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมความงาม จำนวน 85 รายการ อาทิ ฟิลเลอร์ โบท็อก ยาลดไขมัน เซรั่มอสุจิปลาแซลมอน และผลิตภัณฑ์เสริมความงามอื่น ๆ ที่มีการลักลอบนำเข้าหนีภาษีศุลกากร และไม่มีการขึ้นทะเบียนตำรับยา มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้พบข้อมูลว่ามีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมความงามกันอย่างแพร่หลายผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ อาทิ เฟซบุ๊ก อินสตราแกรม และไลน์ โดยเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องสงสัยลักลอบหนีภาษีกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมความงาม จึงได้ทำการสืบสวน ซึ่งต่อมาตำรวจ กก.1 บก.ปอศ.ทำการสืบสวนจนทราบแหล่งที่พัก จึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน ยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาลอาญา เข้าทำการตรวจค้นคอนโดหรูแห่งหนึ่ง ย่านรามคำแหง ซึ่งเป็นห้องพัก 3 ห้อง ทั้งนี้ผลการตรวจค้นพบผลิตภัณฑ์เสริมความงาม กว่า 85 รายการ จำนวน 110,033ชิ้น รวมมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ต่อมาได้ทำการขอตรวจสอบเอกสารการนำเข้าปรากฏว่า ทางผู้ครอบครองยังไม่สามารถแสดงเอกสารการนำเข้าให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ จึงต้องสงสัยว่าผลิตภัณฑ์ที่ถูกตรวจยึดนำเข้ามาโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากรอย่างถูกต้อง ภายหลังการตรวจยึดได้นำของกลางทั้งหมดส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาปรากฏว่า ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่มีการตรวจยึดมานั้น ส่วนใหญ่จัดเป็นผลิตภัณฑ์ แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งไม่สามารถยืนยันได้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีคุณภาพ มาตรฐานและ ความปลอดภัยหรือไม่ นอกจากนี้จากการสอบถามผู้ครอบครองทำให้พบเส้นทางการลำเลียงผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ว่าต้นทางมาจากประเทศเกาหลี ก่อนที่จะผ่านมาทางประเทศเวียดนาม ประเทศสิงค์โปร์ ก่อนจะเข้ามาประเทศไทย รวมทั้งจากการตรวจสอบบัญชีซื้อขายพบว่า มีการจำหน่ายให้กับ ประชาชนทั่วไป และสถานเสริมความงามชื่อดังหลายแห่ง เภสัชกร ประพนธ์ กล่าวว่า ฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชน กลุ่มผู้บริโภค และสถานพยาบาล สถานเสริมความงาม ต่างๆ ให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อ เลือกใช้ ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม โดยให้สังเกตที่หีบห่อบรรจุภัณฑ์ว่ามีฉลากระบุรายละเอียดการนำเข้า เลขทะเบียนตำรับยา ว่าถูกต้องหรือไม่ อีกทั้งการใช้ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งกรณีจะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์บางรายการไม่ได้มีการเก็บรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งแท้จริงต้องเก็บในอุณภูมิไม่ต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส โดยสามารถตรวจสอบได้กับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทางสายด่วน อย.1556 อย่างไรก็ตามการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2520 นำเข้าและขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ,นำเข้าและขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1แสนบาท รวมทั้งผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ลักลอบนำเข้าของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร โทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี หรือ ปรับ4 เท่า ของราคาของที่รวมค่าอากรด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และ.ซื้อหรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยง อากร ข้อห้าม ข้อกำกัด โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับ 4 เท่า ของราคาของที่รวมค่าอากรด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหลังจากนี้จะทำการขยายผลต่อไป