วันนี้ ( 19 มิ.ย.2562 ) ณ ที่บริเวณประตูทางเข้าบริษัทแห่งหนึ่งที่ตั้งเป็นโรงงานอบผลไม้มะม่วงในพื้นที่ ต.เชียงบาน อ.เชียงคำ จ.พะเยา ประชาชนชาวตำบลเชียงบาน ตำบลน้ำแวน และตำบลทุ่งผาสุก รวมตัวกันกว่า 300 คน พร้อมใจกันถือป้ายประท้วงและประกาศขายบ้านเพื่อหนีกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรงที่ถูกปล่อยจากบริษัทดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านทนกันมาหลายปี โดยครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2559 มีทั้งกลิ่นเหม็นและปลาตายเป็นจำนวนมากจนนำไปสู่การร้องเรียนและชาวบ้านก็เคยรวมตัวในเรื่องนี้มาแล้วแต่ไม่ได้รับการแก้ไขให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเป็นปัญหาสะสมเรื่อยมา นายวิชัย ศรีประภารัตน์ อายุ 53 ปี ชาวบ้านแวนวัฒนา ม.5 ต.เชียงบาน ตัวแทนชาวบ้าน เผยว่า จริงชาวบ้านส่วนมากไม่ต้องการบังคับให้ต้องปิดโรงงานไปเลย เพียงแต่เราขอร้องเรื่องกลิ่นเหม็นอย่างแรงของของเสียที่ปล่อยไปทางอากาศและทางลำคลอง ถ้าทำได้เราก็ไม่ติดใจอะไร ส่วนพืชผลที่นำมาอบ ดอง ก็ไม่ใช่ของพื้นทั้งหมดเป็นของมาจากที่อื่นด้วย ซึ่งก็เท่ากับว่าเอามลพิษมาสู่ชุมชน และชาวบ้านต้องทนทุกข์สูดดมกลิ่นตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่ เราจึงมาเรีกยร้องหาความยุติธรรม นางแสงเพ็ญ คันชิง อายุ 62 ปี ชาวอำเภอเชียงบาน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอาการปอดอักเสบตามคำวินิจฉัยของแพทย์ รพ.เชียงคำ เปิดเผยว่า อาการเจ็บป่วยของตนเองเริ่มมีอาการจากที่มีโรงเรียนมาอยู่ในพื้นที่ ทีแรกก็ไม่ค่อยมีกลิ่นแต่นับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและตนเองก็เริ่มป่วยกระเสาะกระแสะเรื่อยมา จนตัดสินใจไปพบแพทย์จึงได้ทราบว่าตนเองเป็นโรคปอดอักเสบและเชื่อว่าต้องมาจากกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรงจากโรงงานฯอย่างแน่นอน ด้าน น.ส.อมรรัตน์ ตาวงค์ อายุ 46 ปี ผจก.โรงงาน เจ.เค ชนาธาร จำกัด ได้พาผู้สื่อข่าวไปดูที่บำบัดน้ำเสีย เป็นบ่อใช้ผ้าพลาสติกคลุมปิดทับ เนื่องจากเมื่อ วันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมาผ้าใบคลุมบ่อถูกของมีคมบาดรั่ว ทำให้กลิ่นของแก๊สจากการน้ำบำบัดรั่วออกจนคละคล้งไปทั่ว ไกลกว่า 5 กิโลเมตร ในขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้เมื่อ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทางบริษัทฯได้ทำหนังสือสัญญากับชาวบ้านว่าจะปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน โดยการเติม สารคลอลีน จะนวน 7 หมื่นกิโลกรัม ในระหว่างนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการสั่งซื้อ เพราะเป็นสารที่มีจำนวนมาก แต่มาเกิดเรื่องรวมตัวประท้วงเสียก่อน ล่าสุด ด้าน นางเบจมาพร เอกฉัตร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้ว กำลังรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อหามาตรการช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรมส่วนโรงงานถ้าแก้ไขไม่ได้ก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายบังคับใช้ต่อไป ( นพพร/พะเยา )