กสทช.หน้าบาน3ค่ายมือถือทรู-เอไอเอส-ดีแทค ตบเท้ายื่นคำขอจัดสรรคลื่น700 MHz ตามคาด วงเงิน5.4 หมื่นล้าน แจงนำรายได้แก้ปัญหาทีวีดิจิทัล คาดเหลือส่งคืนรัฐ2หมื่นล้าน รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ว่า วันนี้ (19มิ.ย.2562) กสทช. เปิดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ยื่นขอรับการจัดสรรคลื่น 700MHzเพื่อให้บริการ 5 จี จำนวน 30 เมกะเฮิรตซ์ โดยมีผู้ประกอบการมือถือทั้ง 3 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ,บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เดินทางมาขอรับใบอนุญาตฯครบทั้ง 3 ค่าย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. เปิดเผยว่า ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ราคาใบละ 17,584 ล้านบาท ระยะชำระค่าคลื่น 10 ปี อายุใบอนุญาต 15 ปี เริ่มนับการชำระค่าใช้คลื่นงวดแรก และระยะเวลาใบอนุญาตวันที่ 1 ต.ค.2563โดยผู้ที่จะมายื่นรับการจัดสรร จะได้รับสิทธิ์ผ่อนชำระค่าใช้คลื่นความถี่ 700 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ เป็น 10 งวด จากเงื่อนไขเดิม 4 งวด ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือ ม.44 เรื่องมาตราแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา สำหรับการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จะเปิดให้แต่ละค่ายมีการเลือกชุดยื่นความถี่ได้แก่ ชุดที่ 1 ช่วงความถี่วิทยุ 703-713 MHz คู่กับ 758-768 MHz ,ชุดที่ 2 ช่วงความถี่วิทยุ 713-723 MHz คู่กับ 768-778 MHz และชุดที่ 3 ช่วงความถี่วิทยุ 723-733 MHz คู่กับ 778-788 MHz “การดำเนินการเปิดให้เอกชนโทรคมนาคมมาขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700MHz ทำให้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2562 หรือ ม.44 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม มีผลสมบูรณ์ แล้ว โดยนำเงินที่ได้จากการจัดสรรคลื่น 700MHz ประมาณ 5.3-5.4 หมื่นล้านบาท เมื่อหักกับเงินที่เยียวยาทีวีดิจิทัล จะเหลือรายได้ 2 หมื่นล้านบาทที่จะนำส่งให้รัฐ” นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้พิจารณาเรื่องการเข้าประมูลแล้ว โดยจะมีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯก่อน ซึ่งถ้าไม่ยื่นรับจัดสรร 700 Mhzเอไอเอส ก็จ่ายค่าคลื่น 900 งวดที่ 4 ในปี 2563 วงเงิน 59,575 ล้านบาทได้ เพราะมีการวางแผนการเงินไว้แล้ว นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า เชื่อว่าการตัดสินใจที่สำคัญครั้งนี้จะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่าย สำหรับคลื่น 700 MHz ดีแทคสามารถนำไปใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารไร้สายเทคโนโลยี 5G ต่อไป โดยการเข้ารับการจัดสรรคลื่นในครั้งนี้จะทำให้ดีแทคมีจำนวนคลื่นย่านความถี่ต่ำ (low band) ที่จะนำมาให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 2x10 MHz และเป็นผลให้ดีแทคจะมีคลื่นความถี่ที่ให้บริการทั้งหมดจำนวน 130 MHz ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยกำลังมุ่งสู่สังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ความพร้อมของ 5G จะเป็นส่วนประกอบสำคัญ ดังนั้น แผนการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ชัดเจนจึงมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมในการตัดสินใจลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว ซึ่งเป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ได้รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และแจ้งความคืบหน้าว่า เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงประโยชน์ทางการเงินจากการแบ่งงวดชำระเงินใหม่ของค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz. บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ได้ดำเนินการยื่นคำขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz. ต่อสำนักงาน กสทช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้สื่อข่าวรายงานว่าค่ายมือถือทั้ง 3 รายที่ได้ยื่นขอรับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 MHz โดยเลือกชุดคลื่นความถี่ที่มีอยู่ 3 ชุด ดังนี้ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ได้เลือกชุดที่ 1 ช่วงความถี่วิทยุ 703-713 MHz คู่กับ 758-768 MHz  ,บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ได้แลือกชุดที่ 2 ช่วงความถี่วิทยุ 713-723 MHz คู่กับ 768-778 MHz  และบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ได้เลือกชุดที่ 3 ช่วงความถี่วิทยุ 723-733 MHz คู่กับ 778-788 MHz