นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัยเปิดเผยว่า วัยทำงานมีความเสี่ยงโรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) ได้ ซึ่งอาการสัญญาณเตือนที่พบบ่อยคือ ปวดหลังเรื้อรังจากที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก เมื่อย เกร็งอยู่ตลอดเวลา, ปวดศีรษะเรื้อรังเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ความร้อน และขาดฮอร์โมนบางชนิดก็ก่อให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน, มือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อค การอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็น นิ้วมือจากการใช้คอมพิวเตอร์ การจับเมาส์ในท่าเดิมนาน ๆ หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาจรุนแรงถึงขั้น หมอนรองกระดูกเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้ ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมขณะทำงาน คือ ปรับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะให้เหมาะสม นั่งสบาย , หากใช้คอมพิวเตอร์ กึ่งกลางของจอควรอยู่ในระดับสายตา การพิมพ์งาน แป้นคีย์บอร์ดควรอยู่ในระดับข้อศอก ข้อมือ ใช้เมาส์โดยพักข้อศอกบนที่รองแขน และสามารถเคลื่อนไหวได้แบบไม่จำกัดพื้นที่, ขณะนั่งทำงาน ควรหลังตรงชิดขอบด้านในเก้าอี้ กะพริบตาบ่อย ๆ พักสายตา จากจอคอมพิวเตอร์ทุกๆ 10 นาที เปลี่ยนท่าทำงานทุก 20 นาที ยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขนทุก 1 ชั่วโมง, ปลูกต้นไม้ในร่ม ช่วยดูดซับสารพิษและเป็นที่พักสายตา, รับประทานอาหารให้ตรงเวลาและครบ 5 หมู่, ควรเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทบ้าง, ตรวจสุขภาพทุกปี