นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 และโฆษกก.สาธารณสุขกล่าวว่า เด็กควรมาพบทันตแพทย์ตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น หรือไม่เกินอายุ 1 ปี และมาตรวจฟันทุก 6 เดือน ผู้ปกครองควรให้ความสนใจ ตรวจดูสภาพเหงือกและฟันของลูกเป็นประจำ หากพบคอฟันมีสีขาวขุ่น หรือด้านบดเคี้ยวมีจุดสีน้ำตาล จุดสีดำ หรือรูฟันผุ ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ก่อนจะมีอาการปวดฟัน ติดเชื้อ มีหนองที่ปลายรากฟัน และแพร่กระจายไปอวัยวะสำคัญ จากข้อมูลสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ในปี 2560 พบเด็กอายุ 3 ปี มีฟันผุร้อยละ 53 และ 5 ปี พบร้อยละ 76 โดยส่วนใหญ่เป็นฟันผุที่ยังไม่ได้รักษา ทั้งนี้ ผู้ปกครองไม่น้อยที่เชื่อผิดๆ ว่า เดี๋ยวฟันน้ำนมก็ต้องหลุดไป มีฟันแท้มาแทนที่ จึงไม่ใส่ใจการรับประทานขนมและการแปรงฟันของลูกมากนัก ซึ่งเด็กจะยังแปรงด้วยตัวเองไม่สะอาดพอ ทำให้ฟันผุง่าย ผู้ปกครองควรดูแลฟันน้ำนมเช่นเดียวกับฟันแท้ เริ่มทำความสะอาดโดยเช็ดช่องปากเด็กตั้งแต่ฟันยังไม่ขึ้น เพื่อให้เคยชิน และแปรงฟันเมื่อเริ่มมีฟันน้ำนมซี่แรก ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ โดยควรช่วยลูกแปรงฟันให้สะอาดทั่วทั้งปาก ทุกซี่ ทุกด้าน จนถึงอายุ 6 ปี ร่วมกับให้เลิกดูดนมจากขวดเมื่ออายุ 1.6 ขวบ หลีกเลี่ยงกินขนมและเครื่องดื่มรสหวาน อาหารว่างที่เหมาะสำหรับเด็กได้แก่ นมจืด ผลไม่หวาน พาเด็กไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน ซึ่งการแปรงฟันให้สะอาดด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เป็นวิธีป้องกันฟันผุที่ดีที่สุด เน้นบริเวณคอฟัน และด้านบดเคี้ยว