ทำท่าว่าจะเป็นวิกฤติการเมืองที่ยืดเยื้ออีกคำรบ สำหรับ การชุมนุมประท้วงในเกาะฮ่องกง เขตบริหารพิเศษของจีนแผ่นดินใหญ่ ครั้งล่าสุด ภายหลังจาก “ม็อบ” เริ่มรวมตัวประท้วง “ร่างปรับแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปให้ทางการจีนแผ่นดินใหญ่” ที่ทางการของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชานจีน จะให้ทาง “สภานิติบัญญัติ” ประชุมพิจารณา เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน ซึ่งตามรายงานที่อ้างอิงการเปิดเผยของฝ่ายจัดการม็อบ ระบุว่า มีจำนวนของผู้ชุมนุมประท้วงถึง 1 ล้านคน มากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่อังกฤษ คือนเกาะฮ่องกง กลับสู่จีนแผ่นดินใหญ่ ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ก่อนการชุมนุมประท้วง จะกลายสู่ความรุนแรง เพราะปะทะกันอย่างดุเดือดระหว่างม็อบ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ถึงขนาดทำให้ “นางแคร์รี หล่ำ ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ” ต้องออกมาเปิดใจแสดงความเสียใจด้วยสภาพน้ำตานองหน้า พร้อมสั่งระงับการประชุมเพื่อพิจารณาร่างปรับแก้ไขกฎหมายข้างต้น ออกไปชั่วคราว และสั่งปิดทำการหน่วยงานภาครัฐบางส่วนไปจนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย อย่างไรก็ดี ตัวเลขการชุมนุมประท้วงครั้งดังกล่าว ถูกลบสถิติลงไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อปรากฏว่า การประท้วงรอบใหม่ที่มีขึ้นต่อเนื่องจากช่วงสุดสัปดาห์ ถึงต้นสัปดาห์นี้ ได้มีชาวฮ่องกงมารวมตัวประท้วง ซึ่งตามการเปิดเผยของฝ่ายจัดการชุมนุม ระบุว่า มีจำนวนมากถึง 2 ล้านคนด้วยกัน ปิดถนนสายต่างๆ จนการจราจรเป็นอัมพาตกันแทบจะทั่วทั้งเกาะ ใช่แต่เท่านั้น พวกแกนนำของกลุ่ม “ปฏิวัติร่ม” อย่าง “โจชัว หว่อง” ก็ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ มาร่วมสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุม เพิ่มความกล้าแข็ง เสริมแกร่งให้แก่เหล่าม็อบยิ่งขึ้นอีกเป็นทวีคูณ “โจชัว หว่อง” หนึ่งในแกนนำปฏิวัติร่ม ได้รับการปล่อยตัว โดยสถานการณ์ม็อบที่มีขึ้นในหนนี้ ปรากฏว่า ได้เกิดโศกนาฎกรรมขึ้น เมื่อผู้ชุมนุมรายหนึ่ง เสียชีวิต ขณะปีนขึ้นไปที่สูง เพื่อปิดป้ายที่มีข้อความประท้วง ซึ่งแม้ว่าการเสียชีวิตมิได้เกิดจากการสลายชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่พลพรรคก็หยิบยกกรณีนี้ขึ้นมาโจมตีต่อทางการฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างนางแคร์รี หล่ำ ในฐานะผู้ว่าการฯ ให้รับผิดชอบ ผสมผเสสถานการณ์การชุมนุมให้ประท้วงอย่างร้อนแรงเยี่ยงนี้ ก็ส่งผลให้นางแคร์รี หล่ำ ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ ต้องมีคำสั่งให้ระงับการประชุมพิจารณาร่างปรับแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปให้แก่ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ ออกไปอย่างไม่มีกำหนด พร้อมๆ กันนั้น ผู้ว่าการฯ หญิงของเกาะฮ่องกง ยังได้ออกมาขอโทษขอโพยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย นางแคร์รี หล่ำ ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการแสดงออกของนางแคร์รี หล่ำ ยังไม่เป็นที่พอใจต่อบรรดาม็อบกันเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เป็นแกนนำครั้งปฏิวัติร่มที่ผันตัวเองมาเป็นนักการเมืองรุ่นเยาว์อย่าง “โจชัว หว่อง” ได้ออกมาเรียกร้องต่อนางแคร์รี หล่ำ ว่า ให้ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ กันเลยทีเดียว พูดง่ายๆ ก็คือ กลุ่มม็อบไม่ยอมรับการขอโทษต่อนางแคร์รี หล่ำ แต่ลามเลยไปถึงการเรียกร้องให้ผู้ว่าการฯหญิงรายนี้ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า รัฐบาลปักกิ่ง ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ ให้ความสนับสนุนอยู่นั้น ก้าวลงจากเก้าอี้ พ้นการเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของจีนแผ่นดินใหญ่กันไปเลย โดยทางฝ่ายจัดการม็อบ ได้ยกระดับการชุมนุมที่จะนำไปสู่การประท้วงอย่างยืดเยื้อ ท่ามกลางกระแสการประท้วงที่อยู่สถานการณ์ที่เรียกว่า “ม็อบจุดติด” ทั้งนี้ จากการเปิดใจของผุ้ชุมนุมส่วนหนึ่ง ระบุว่า เพราะการกระทำของนางแคร์รี หล่ำ จึงทำให้พวกเขามิอาจอยู่แต่ในบ้านเฉยๆ ต่อไปอีกได้ ต้องออกมาลงถนนร่วมกับม็อบ เพื่อต้านร่างปรับแก้ไขกฎหมายฯ ที่มีขึ้นโดยพวกเขาเห็นว่า ไม่ผิดอะไรกับการทำให้ฮ่องกงเป็นเมืองๆ หนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ และการมาสมทบม็อบในครั้งนี้ ก็ยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลปักกิ่ง ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ ให้ยุติการผลักดันร่างปรับแก้ไขกฎหมายฯ อีกประการหนึ่งด้วย สถานการณ์ที่ลามเลยจนทำให้การประท้วงส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อ ไม่ยอมลงให้กับทั้งทางการฮ่องกงและรัฐบาลปักกิ่ง กระทั่งกลายเป็นวิกฤติทางการเมืองกันเยี่ยงนี้ ก็ทำให้วิตกกันว่า การชุมนุมจะจบลงเมื่อใด และการเจรจาจะเป็นวิธียุติม็อบเหมือนครั้งปฏิวัติร่มที่ประท้วงยาวนานถึง 79 วัน เมื่อ 5 ปีก่อนได้หรือไม่? ต้องจับตาดูสถานการณ์กันด้วยความเป็นห่วงยิ่ง