สาขาวิชาการจัดการโรงแรมและท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ พีไอเอ็ม คว้าชัย 2 รางวัล ทั้งอาจารย์และนักศึกษา ด้วยรางวัลแชมป์คะแนนสูงสุดของรายการ Hot Appetizer & Hot Dessert และคว้าอีก 1 เหรียญทองแดง ในประเภทเดียวกัน ตอกย้ำคุณภาพของความเป็นมืออาชีพผ่านผลงานเมนูใหม่ชั้นเยี่ยม ในการแข่งขัน “สุดยอดเชฟไทยแห่งปีครั้งที่ 8 Thailand Ultimate Chef Challenge 2019 (TUCC) การแข่งขันใหญ่ที่สุดของประเทศประกอบไปด้วยผู้เข้าร่วมแข่งขันจากทั่วเอเชีย จัดภายในงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย THAIFEX-World of Food Asia 2019 สนับสนุนโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับหอการค้าไทย และ บริษัท โคโลญ เมสเซ่ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค จำกัด เพื่อค้นหาสุดยอดเชฟระดับมืออาชีพ (Professional Chef) และระดับเยาวชน (Junior Chef) ในมาตรฐานการแข่งขันระดับโลก ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 1,000 คน จาก 10 กว่าประเทศ ตลอดการจัดงานทั้ง 5 วัน และได้รับเเกียรติจากสมาคมเชฟโลกเดินทางมาร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมกับคณะกรรมการเชฟที่มีชื่อเสียง ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ในวงการอาหารกว่า 30 คน ร่วมตัดสินการแข่งขัน เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2562  ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) นำโดยอาจารย์อนุชิต แสงอ่อน รักษาการหัวหน้าสาขาวิชาการจัดการโรงแรมและท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ พีไอเอ็ม โชว์ฝีมือเหนือชั้น คว้า แชมป์ Champion Awards of California Raisin Challenge ทำคะแนนสูงสุดของรายการ Hot Appetizer & Hot Dessert จากผู้เข้าร่วมแข่งขันอีกหลายประเทศที่ 85.25 คะแนน ด้วยเมนู California raisins Saffron Broth and anchovy foam และ California raisins Crumble Bars พร้อมพาลูกศิษย์ นางสาวกมลชนก ขำพร้อม นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการจัดการการบริการและการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ คว้าอีก 1 เหรียญทองแดง ในประเภทเดียวกัน จากเมนู California flower และ Raisins in gold bag ซึ่งโจทย์การแข่งขันคือ ลูกเกด (Raisins) เชฟต้องทำอาหารประเภท Hot Appetizer 2 จาน และ Hot Dessert อีก 2 จาน ภายในเวลาไม่เกิน 50 นาที อาจารย์อนุชิต แสงอ่อน รักษาการหัวหน้าสาขาวิชาการจัดการโรงแรมและท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ พีไอเอ็ม กล่าวทิ้งท้ายว่า “การแข่งขันครั้งนี้ต้องการสร้างแพชชั่น แรงบันดาลให้นักศึกษาเรื่องการทำอาหาร และฝึกฝนทักษะ ให้เป็นเชฟที่สามารถรังสรรค์อาหารจากทุกวัตถุดิบได้หลากหลายอย่าง ทั้งยังเป็นตัวอย่างในแนวการคิด และลงมือปฎิบัติจริงนอกห้องเรียนสอดคล้องตามรูปแบบการเรียน Work-based Education เตรียมนักศึกษาให้พร้อม สู่การต่อยอดความสามารถในเวทีระดับแอดวานซ์ทั้งในและต่างประเทศได้ต่อไป”