สำนักงานพลังงานจังหวัดชัยภูมิ ร่วมส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนแบบครบวงจร เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างยั่งยืน วันที่ 18 มิถุนายน 2562 สำนักงานพลังงานจังหวัดชัยภูมิ นำคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชม โครงการขับเคลื่อนเครือข่ายไหมไทยแบบบูรณาการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งยั่งยืน สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบแปลงใหญ่ด้วยพลังงานทดแทน ของกลุ่มเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม บ้านวังหิน ตำบลบ้านเต่า อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ นายพินิจ ช่างไม้ พลังงานจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ จะประสบปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำในการผลิตหม่อน ส่งผลให้การผลิตรังไหม เส้นไหม มีคุณภาพไม่ดี ไม่สามารถส่งต่อวัตถุดิบที่มีคุณภาพให้กับผู้ประกอบการเพื่อผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน นอกจากนี้ ยังขาดนวัตกรรมและเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต ทำให้ผลิตสินค้าได้น้อยและมีต้นทุนสูง ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตให้กับเกษตรกรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ ทางจังหวัดชัยภูมิจึงได้สนับสนุบงบประมาณในการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานชุมชนให้กับกลุ่มผู้ผลิตไหม เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ไหม ภายใต้โครงการ ขับเคลื่อนเครือข่ายไหมไทย แบบบูรณาการเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบแปลงใหญ่ด้วยพลังงานทดแทน งบประมาณ 4,550,000 บาท ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในจังหวัดชัยภูมิ จำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่ ตำบลโคกมั่งงอย อำเภอคอนสวรรค์ ตำบลบ้านเต่า อำเภอบ้านแท่น ตำบลบ้านหัน อำเภอเกษตรสมบูรณ์ ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอแก้งคร้อ และบ้านเสี้ยวน้อย ตำบลบ้านเล่า อำเภอเมืองชัยภูมิ โดยมีทางสำนักงานพลังงานจังหวัดชัยภูมิเป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งได้สนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานงานทดแทนให้กับ 5 กลุ่มเกษตรกรดังกล่าว ประกอบด้วย 1) ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์กลุ่มละ 1 ระบบ 2) บ่อบาดาลกลุ่มละ 1 บ่อ 3) โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์กลุ่มละ 2 โรง “ผลิตภัณฑ์ไหมนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชัยภูมิ กลุ่มเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม บ้านวังหิน ตำบลบ้านเต่า อำเภอบ้านแท่น ที่พาคณะสื่อมวลชนมาเยี่ยมชมครั้งนี้ เป็นหนึ่งใน 5 กลุ่ม ที่ได้รับการส่งเสริมจากโครงการขับเคลื่อนเครือข่ายไหมไทย แบบบูรณาการเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งโครงการดังกล่าว ได้ช่วยให้กลุ่มเกษตรกรเกิดการพัฒนาตนเอง สร้างรายได้เพิ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไหมให้เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ เกิดการกระจายรายได้ ลดปัญหาความยากจน และยังก่อให้เกิดแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานทดแทน ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตไหมตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิตให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเองได้อีกด้วย” พลังงานจังหวัดชัยภูมิ กล่าว