วันที่ 18 มิ.ย.นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โพสต์บทความ ประชาไม่นิยม แต่ สส./สว. นิยม ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ขณะนี้ ส.ส.จำนวน 500 คน และ สว.จำนวน 250 คน รวม 750 คน กำลังจะจัดสรร แต่งตั้งตำแหน่งผู้ช่วยฯ ผู้ชำนาญการ และผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ​คำถามมีอยู่ว่า ประชาชนต้องจ่ายค่าตอบแทนบุคคลเหล่านี้ เป็นเงินเดือนละเท่าไหร่ ควรแต่งตั้งใครมาทำงาน และควรใช้งานคุ้มค่าหรือไม่ ในเรื่องอะไร? ​ ​1. ส.ส.และ ส.ว. รวม 750 คน ได้ค่าตอบแทนคนหนึ่ง เดือนละ 113,560 บาท ดังนั้น ทุกเดือน ประชาชนต้องจ่ายค่าตอบแทนรวมกัน 85 ล้านเศษต่อเดือน ​2. ส.ส. หรือ ส.ว.แต่ละคน มีผู้ช่วย 5 คน ผู้ชำนาญการ 2 คน และผู้เชี่ยวชาญ 1 คน ประชาชนต้องจ่ายค่าตอบแทนเดือนละ 129,000 บาท ดังนั้น ทุกเดือนประชาชนต้องจ่ายค่าตอบแทนรวมประมาณ 92 ล้านบาทต่อเดือน ​3. เท่ากับว่า ประชาชนต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับ ส.ส. และ ส.ว. รวมถึงผู้ช่วยงาน ส.ส. และ ส.ว. อีก 8 คน ต่อ ส.ส.หรือ ส.ว. 1 คน รวมกันเดือนละ 177 ล้านบาท หรือปีละ 2,124 ล้านบาท ​โดยที่ยังมีค่าเบี้ยประชุมกรรมาธิการ ค่าเดินทาง รวมถึงการใช้เครื่องบินในประเทศที่ไม่จำกัดจำนวน และจุดหมายปลายทาง โดยสายการบินเรียกเก็บเงินจากรัฐสภา (ที่ประชาชนต้องจ่าย) นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการเงินบำนาญเมื่อต้องพ้นจากตำแหน่งต่อไปอีก ​4. ประชาชนยังต้องจ่ายค่าศึกษาดูงานอีกปีละหลายร้อยล้านบาท ที่จัดสรรให้แก่กรรมาธิการแต่ละคณะ รวมถึงเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐสภาอีกหลายพันคน ค่าใช้จ่ายด้านสถานที่อีกจำนวนมหาศาล ​ภาษีจากประชาชน ต้องทำงานให้คุ้มค่า​ที่เขียนมาข้างต้น มิได้ต้องการบอกว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรมีแต่กำลังจะบอกว่า ประชาชนโดยตัวแทน และการมีส่วนร่วมของประชาชน มีต้นทุนที่สูงและแพง ดังนั้น ต้องใช้เงินของประชาชนให้คุ้มค่า ​1. การแต่งตั้งผู้ช่วยงาน ส.ส./ส.ว. จำนวน 8 คน ต่อ ส.ส./สว. 1 คน ต้องไม่แต่งตั้งบุคคลในครอบครัว สามี ภรรยา ลูกสาว ลูกเขย ลูกสะใภ้ และน้อง หรือญาติสนิทเข้ามาดำรงตำแหน่ง​แต่ควรแต่งตั้งคนที่สามารถทำงานได้จริง มีประสิทธิภาพตรงกับงานในหน้าที่​จริงอยู่ บางคนอ้างว่า ภรรยา สามี ลูก รู้ใจ ทำงานมีประสิทธิภาพ ก็ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม และหลักของการขัดกันแห่งผลประโยชน์​ไม่ควรเอาคณะกรรมการสรรหา ส.ว. จำนวน 9 คน ที่สรรหาแล้วได้คนในกรรมการสรรหาไปเป็น ส.ว. 5 คน และมีญาติพี่น้องอีกจำนวนหนึ่ง เป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้อง​ต้องไม่เอาอย่างกรณี คสช. เลือกสรร ส.ว. 250 คน ที่มีอำนาจหน้าที่มาเลือกหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี ​การขัดกันแห่งผลประโยชน์ และความโปร่งใส ธรรมาภิบาลในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นข้อเตือนใจให้เกิดความละอาย และอาจขัดต่อ พ.ร.บ.ทางการปกครองได้ ​2. ค่าตอบแทนผู้ช่วยงาน ส.ส./ส.ว. ทั้งหมด 92 ล้านบาท หรือปีละ 1,100 ล้านบาท รัฐสภาโดยความพร้อมใจของ ส.ส.และ ส.ว.ยุคใหม่ ควรผันเงินดังกล่าวไปจ้างทีมผู้ทำงานศึกษาวิจัยรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล รับฟังข้อคิดความเห็น ข้อเท็จจริงจากประชาชน เปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ทำเป็นข้อเสนอ ทางเลือกให้แก่กรรมาธิการ ส.ส./ส.ว.​อาจต้องจ้างคนมีประสบการณ์ความรู้สูงด้วยเงินเดือนสูงได้อย่างสบาย เพราะไม่ต้องแจกจ่ายผู้ช่วยเป็นเบี้ยหัวแตกอย่างในปัจจุบัน ​อาจจะจัดทีมวิชาการแยกเป็นคณะตามกรรมาธิการที่ศึกษาเชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละเรื่อง​เมื่อปี 2543 ขณะที่ได้เข้าไปเป็น ส.ว.จากการเลือกตั้งกรุงเทพฯ ได้เสนอเรื่องนี้ แต่ไม่สำเร็จ เพราะกฎเกณฑ์ ผลประโยชน์ ได้เข้าสู่สมาชิกรัฐสภาแล้ว จึงมีคนที่ยอมคายออกไม่กี่คน ​3. รัฐสภาไทย ได้จัดตั้งสถาบันพระปกเกล้า ขึ้นให้เป็นหน่วยวิชาการ ศึกษาค้นคว้า วิจัยเสนอแนะเรื่องสำคัญๆ ให้แก่รัฐสภา เหมือนเช่นรัฐสภาในประเทศประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ แต่สถาบันพระปกเกล้าก็ไม่ทำหน้าที่เป็นหน่วยวิชาการให้กับรัฐสภา และการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภาในการออกกฎหมาย เสนอญัตติ และกำหนดทิศทางของประเทศอย่างเต็มความสามารถ​สถาบันพระปกเกล้าที่ประชาชนรู้จัก จึงเป็นสถาบันจัดฝึกอบรมผู้บริหารระดับสูง ที่ให้เอกชนอยากเข้ามาสร้างคอนเน็คชั่นกับข้าราชการระดับสูง ​ สถาบันพระปกเกล้ามีประธานสภาผู้แทนราษฎร (ประธานรัฐสภา) เป็นประธานกรรมการ มีประธานวุฒิสภาและผู้นำฝ่ายค้านเป็นรองประธานกรรมการ น่าจะพัฒนาให้ทำงานในหน้าที่ศึกษาวิจัยค้นคว้าทางออกให้สังคมไทย โดยมีความยึดโยงกับประชาชนเจ้าของประเทศให้มากขึ้นกว่านี้ ​ขอเปิดเผยความจริงให้ได้รับรู้กันว่า ครั้งหนึ่ง ในอดีต... รัฐสภาแคนาดาและหน่วยงานศึกษาวิจัยลักษณะเดียวกับสถาบันพระปกเกล้า ได้เชิญสมาชิกรัฐสภาของไทยและ สถาบันพระปกเกล้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดูงานของแคนาดา โดยออกค่าใช้จ่ายให้ เพราะเห็นว่าสถาบันศึกษาวิจัยของเขาได้ทำงานร่วมกับรัฐสภาแคนาดา โดยมีกระบวนการให้ประชาชนทั้งประเทศได้มีส่วนร่วมภายใต้ชื่อ “Citizen Dialogue” ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และกำหนดนโยบายสำคัญของประเทศ ที่รัฐสภาแคนาดาได้ดำเนินการอย่างประสบความสำเร็จมาแล้ว ​คณะผู้แทนจากไทย มีประธานรัฐสภาเป็นหัวหน้าคณะ มี ส.ส.จำนวนหนึ่ง ผมในฐานะประธานกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา และ ส.ว.จำนวนหนึ่ง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสถาบันพระปกเกล้าอีกจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางไปแคนาดา ​เมื่อไปถึงสถานที่ศึกษาดูงาน ปรากฏว่า หัวหน้าคณะของเราพร้อม ส.ส.จำนวนหนึ่งได้แยกตัวบินต่อไปที่ไหนไม่มีใครรู้ ปล่อยให้ผมต้องรักษาหน้า ทำหน้าที่หัวหน้าคณะ ทั้งในงานที่ประธานสภาของแคนาดาจัดเลี้ยงต้อนรับ และการศึกษาดูงานที่ตั้งใจไว้ และมาพบกับคณะที่หายตัวไปที่สนามบินลอสแอลเจิลลิสเมื่อมาต่อเครื่องบินกลับประเทศไทย ​ประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน ชวน หลีกภัย คงจะต้องปฏิรูปฝ่ายนิติบัญญัติ ปรับโครงสร้างและระบบการทำงานของรัฐสภาให้ได้​ประชาชนต้องไม่ปล่อยให้สมาชิกรัฐสภาผลาญงบประมาณ ผลาญเงินของประชาชน โดยไม่ได้ประโยชน์เต็มเท่าที่ควรจะเป็น​โอกาสหน้าจะเปิดเผยถึงสิ่งที่ได้พบในการศึกษาดูงานของ ส.ส./ส.ว. ว่าเขามีวิธีหลบหลีกใช้เงินประชาชนไปเที่ยวหรือไปศึกษาดูงานจริงจังกันอย่างไร