แนะนำสมุนไพรรสเผ็ดร้อนมาปรุงอาหาร ช่วยเลือดไหลเวียน บรรเทาท้องอืด เฟ้อ แก้วิงเวียน ทั้งขิง ข่า ตะไคร้ กะเพรา กระชาย แมงลัก เป็นต้น แนะเลี่ยงกินหวานจัด มันจัด ย่อยยาก ขณะหัวหอม ใบมะขาม ใบส้มป่อย ใช้รมไอน้ำช่วยภูมิแพ้อากาศได้ นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ โฆษกกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย เรียกฤดูกาลนี้ว่า วสันตฤดู สภาพอากาศจะเย็นและชื้น หากกระทบร่างกาย จะทำให้ธาตุลมในร่างกายเสียสมดุลเกิดเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่ดูแลสุขภาพไม่ดี และโรคที่มักเกิดได้บ่อย ได้แก่ อาการหวัด คัดจมูก ไอ จาม ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ท้องเสีย วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น กลุ่มเสี่ยงที่เจ็บป่วยได้ง่าย คือ คนธาตุลม ตามหลักการแพทย์ แผนไทย หมายถึง คนที่เกิดเดือนเม.ย., พ.ค. และมิ.ย. โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ หอบหืด ซึ่งจะต้องรักษาสุขภาพเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงแนะนำประชาชนอย่ามองข้ามภูมิปัญญาพื้นบ้านที่นำพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านที่มีรสเผ็ดร้อนมาปรุงอาหารเพื่อป้องกันโรค เพราะสมุนไพรรสเผ็ดร้อนจะกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก ช่วยขับลม บรรเทาท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้วิงเวียนศีรษะได้ดี สมุนไพรที่แนะนำ ได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ ใบกะเพรา กระชาย แมงลัก สะระแหน่ ช้าพลู ขมิ้นขาว ขมิ้นชัน ผักชี โหระพา หอมแดง กระเทียม ใบมะกรูด พริกไทย เป็นต้น เมนูอาหารที่แนะนำ เช่น แกงส้ม ต้มยำ น้ำพริกผักจิ้ม ไก่ผัดขิง ฯลฯ น้ำสมุนไพร เช่น น้ำตะไคร้ น้ำขิง ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการบริโภคช่วงฤดูฝน คือ อาหารที่มีรสหวานจัด มันจัด และอาหารที่ย่อยยาก เพราะเป็นสิ่งกระตุ้นให้ธาตุลมในร่างกายแปรปรวนและเสียสมดุลมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย แต่หากเกิดอาการหวัด คัดแน่นจมูก หรือภูมิแพ้อากาศ การแพทย์แผนไทยก็มีวิธีแก้ง่าย ๆ ด้วยการรมไอน้ำ ขั้นตอนไม่ยุ่งยากสามารถทำที่บ้านได้ด้วยตนเอง โดยนำหอมแดง 3-4 หัว ทุบพอแหลก ใบมะขามและใบส้มป่อยอย่างละ 1 กำมือ ใส่กะละมังหรือหม้อที่ทนความร้อนแล้วเติมน้ำร้อนใส่พอท่วมสมุนไพร ปิดฝาหม้อไว้ 2-3 นาที ให้น้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรส่งกลิ่นหอม จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ คลุมศีรษะ และเปิดฝาหม้อรมไอน้ำให้ทั่วใบหน้าสูดลมหายใจเข้าออกลึก ๆ ประมาณ 5-10 นาที หรือกว่าไอน้ำจะหมด ทำช่วงเช้าเป็นระยะเวลา 4-5 วัน อาการคัดแน่นจมูกจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ หากเกิดข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กองวิชาการและแผนงาน โทร.0-2149 -5678