ระบุเด็กวัยเรียนต้องได้รับอาหารมีคุณภาพ ถูกหลักโภชนาการ เพื่อเจริญเติบโตได้สมวัย กินดี เพื่อเรียนดี และเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ โดยต้องกินครบ 3 มื้อหลัก เช้า กลางวัน เย็น พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกก.สาธารณสุข กล่าวว่า จากกรณีมีการแชร์ข่าวรัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งไม่เป็นความจริงนั้น โดยโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินการเหมือนเดิม เนื่องจากเด็กวัยเรียนควรได้กินอาหารกลางวันที่มีคุณค่าโภชนาการครบถ้วนจากคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุและเกลือแร่อย่างเหมาะสม ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต มีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ จดจำ เสริมสร้างภูมิต้านทานโรค และสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้เป็นปกติ ทั้งนี้ หากร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารน้อยไปจะส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตไม่เหมาะสมตามวัย เช่น ตัวเล็ก เตี้ย แคระแกร็น ภูมิต้านทานต่ำ สติปัญญาต่ำ เรียนรู้ช้า และหากได้รับพลังงานมากเกินความต้องการ จะนำไปสู่โรคอ้วน และโรคอื่นๆ จึงควรให้เด็กวัยเรียนได้รับสารอาหารในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อการเจริญเติบโตและสุขภาพที่ดี พญ.อัมพรกล่าวว่า กลุ่มอาหารที่เด็กวัยเรียนควรจะได้รับ ได้แก่ 1. อาหารประเภทเนื้อสัตว์ เพราะให้โปรตีนเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และฮอร์โมน ควรเลือกที่ไม่ติดมัน 2.นม ให้โปรตีน-แคลอรี่สูง มีแคลเซียมวิตามินเอมาก เหมาะกับเด็กที่กำลังเติบโต ควรดื่มวันละ 2 แก้วทุกวัน 3. ข้าวหรือแป้งต่าง ๆ ควรจัดในทุกมื้อ เลือกที่ขัดสีน้อย 4. ผักผลไม้สด ควรมีทุกมื้อ และสับเปลี่ยนชนิดให้หลากหลาย 5. เด็กควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว “ควรจัดอาหารให้เด็กครบ 5 หมู่ หากเป็นอาหารจานเดียว ถ้าเมนูที่เป็นผัดด้วยน้ำมันต้องจัดคู่กับผลไม้ หรือของหวานที่เป็นกะทิไม่ควรคู่กับอาหารมัน มีข้าวสวยเป็นหลักจัดร่วมกับกับข้าวอีก 1 อย่าง หรืออาจเป็นอาหารจานเดียวประเภทเส้นต่างๆ มีเนื้อสัตว์ในปริมาณที่เพียงพอย่อยง่าย มีผักเป็นส่วนประกอบทุกมื้อ ใช้เกลือหรือน้ำปลาผสมไอโอดีนปรุง ขนมปัง อาทิ ขนมปังไส้ไก่หยอง ขนมไทย เช่น ขนมถั่วแปบ ถั่วเขียวต้มน้ำตาล โดยจัดอาหารกลางวันหมุนเวียน 5 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งด็กวัยเรียนจำเป็นต้องกินมื้อหลัก 3 มื้อ ได้แก่ มื้อเช้า มื้อเที่ยง มื้อเย็น และเพิ่มอาหารว่าง 2 มื้อ คือ อาหารว่างเช้าและบ่าย ต้องมีคุณค่าโภชนาการ ไม่หวานจัด เค็มจัด หรือไขมันสูง”