ความเป็นมา สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทป. เดิมเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2551 ภายใต้พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 มีวัตถุประสงค์หลักในการมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์ เทคโนโลยีป้องกันประเทศ จากการดำเนินงานระยะเวลาประมาณ 11 ปี สทป. สามารถดำเนินการได้ถึงขั้นการสร้างต้นแบบ แต่ยังไม่สามารถต่อยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการได้ครบวงจรตั้งแต่ขั้นการวิจัยพัฒนา จนถึงขั้นการผลิตและจำหน่าย ประกอบกับด้านการกำหนดนโยบายที่ต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากรัฐบาล ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานภาครัฐอื่น นอกเหนือจากกระทรวงกลาโหมด้วย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพึ่งพาตนเอง นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ในด้านความมั่นคง โดยให้กระทรวงกลาโหมเร่งรัดการดำเนินการศึกษา วิจัยและพัฒนาการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ในประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านความมั่นคง และลดภาระงบประมาณในการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยกระทรวงกลาโหม ได้พิจารณาภารกิจที่เกี่ยวข้อง และได้มีมติในการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 กำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ดำเนินการหารือร่วมกับกองบัญชาการกองทัพไทย เหล่าทัพ และ สทป. ในการกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อการพึ่งพาตนเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีการวิจัยพัฒนาสำหรับการผลิตใช้ในราชการ และการส่งออกในเชิงพาณิชย์ อันจะนำไปสู่การลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และสร้างรายได้ให้กับประเทศ ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้อนุมัติโดยมติที่ประชุมให้ สทป. ปรับปรุงโครงสร้างและระบบงานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และการวิจัยพัฒนากระทรวงกลาโหม โดยมีปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธานการประชุม ปรับปรุงแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อยกระดับจากฐานะเดิม ให้มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมิได้เป็นส่วนราชการที่สามารถสนับสนุนให้กับกระทรวงกลาโหม ในการดำเนินกิจการด้านการวิจัยพัฒนา และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อความมั่นคง รวมถึงต่อยอดผลการวิจัยและพัฒนาไปจนถึงขั้นการผลิต และจำหน่ายในเชิงพาณิชย์โดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีอำนาจกำกับกิจการโดยทั่วไปของ สทป. การจัดตั้ง สทป. ได้ดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. .... เพื่อให้มีสถานะเป็นองค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ไม่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ใช้ชื่อว่า “พระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562” โดยพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ - ชื่อสถาบัน เปลี่ยนจาก สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) เป็น “สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” ชื่อย่อ “สทป.” และชื่อภาษาอังกฤษ เปลี่ยนจากDefence Technology Institute (Public Organization) เป็น “Defence Technology Institute” ชื่อย่อว่า “DTI” - การกำหนด “คณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน และมีกรรมการโดยตำแหน่งเป็นระดับปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องอยู่ลำดับเหนือขึ้นไปจากคณะกรรมการสถาบัน - มีหน้าที่และอำนาจสำคัญในการกำหนดนโยบายและเป้าหมายในด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสถาบัน กำหนดแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐและภาคเอกชนมีบทบาทในการดำเนินกิจการเทคโนโลยีป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงการเสนอแนะและให้คำปรึกษาคณะรัฐมนตรีในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว - เพิ่มวัตถุประสงค์ให้ทำการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม หน่วยงานอื่นของรัฐ และภาคเอกชน - เพิ่มหน้าที่และอำนาจให้ดำเนินกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การจัดตั้งหรือร่วมกับบุคคลอื่นในการจัดตั้งองค์กรที่เป็นนิติบุคคล รวมตลอดถึงการเข้าร่วมทุน ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนกับบุคคลหรือนิติบุคคลใด เพื่อดำเนินกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การมอบหมายให้ผู้อื่นเป็นตัวแทนเพื่อประกอบกิจการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน การส่งผู้ปฏิบัติงานไปปฏิบัติงานในกิจการที่สถาบันเข้าร่วมทุน ถือหุ้น เป็นหุ้นส่วนกับบุคคลอื่น หรือในกิจการของภาคเอกชนภายใต้วัตถุประสงค์ของสถาบัน การให้บริการการทดสอบและรับรองผลการทดสอบเกี่ยวกับอุปกรณ์ ต้นแบบ หรือผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่สถาบันทดสอบ รวมถึงการส่งยุทโธปกรณ์ซึ่งสถาบันได้ศึกษาวิจัยหรือร่วมศึกษาวิจัย ให้หน่วยงานของกระทรวงกลาโหมหรือหน่วยงานของรัฐที่มีขีดความสามารถ ผลิตเพื่อใช้ในกิจการของรัฐ หรือร่วมกับเอกชนหรือนิติบุคคลอื่นก่อตั้งนิติบุคคลเพื่อผลิตและขายตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด - การให้กิจการที่สถาบันจัดตั้งหรือร่วมกับบุคคลอื่นจัดตั้งองค์กรที่เป็นนิติบุคคล ได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยโรงงานผลิตอาวุธของเอกชน โดยจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งต้องมีมาตรการกำกับดูแลหรือควบคุมตามแนวทางที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้ โครงสร้างของ สทป. ที่มีคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศเพิ่มเติมขึ้นมานั้น มีองค์ประกอบดังนี้ 1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกรรมการ 2) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 12 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 6 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี 4) ในกรณีที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ 5) ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นเลขานุการ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ 1) กำหนดนโยบายและเป้าหมายการดำเนินงานของสถาบันฯ ในด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของกระทรวงกลาโหม โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี 2) กำหนดแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐและภาคเอกชน มีบทบาทในการดำเนินกิจการเทคโนโลยีป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 3) เสนอแนะหรือให้ความเห็นต่อกระทรวงกลาโหมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนเทคโนโลยีป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 4) กำกับ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของคณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สถาบันให้เป็นไปตามนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศกำหนด 5) ออกระเบียบเกี่ยวกับลักษณะและประเภทของยุทโธปกรณ์ รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิตและการขายยุทโธปกรณ์ดังกล่าวตามมาตรา 24 6) ออกข้อบังคับว่าด้วยการป้องกันการมีส่วนได้เสียและการรักษาความลับในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการในคณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ อนุกรรมการ ผู้อำนวยการ และผู้ปฏิบัติงานของสถาบัน 7) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศหรือตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยในส่วนของคณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการโดยตำแหน่ง คือ จาก เดิม ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นคณะกรรมการสถาบันฯ เป็น กรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และกำหนดให้มีผู้อำนวยการศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร เป็น กรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารสถาบันฯ เช่นเดิมแผนปฏิบัติการด้านพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562-2580 การบังคับใช้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) มีผลให้การดำเนินการของ สทป. สอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ประเด็นความมั่นคง แผนย่อยการพัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญภัยคุกคาม และประเด็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต แผนย่อยอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ นอกจากนั้น ยังสอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2558-2564 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564 และแผนปฏิรูปประเทศในด้านเศรษฐกิจด้วย สำหรับการดำเนินการของ สทป. นั้น ได้มีการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562-2580 (เดิมคือแผนยุทธศาสตร์ สทป. พ.ศ. 2551-2565) ซึ่งยังคงประเด็นยุทธศาสตร์ 4 ประเด็น คือ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่ประชาสังคม ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาองค์กรเพื่อความยั่งยืน ซึ่งได้มีการทบทวนเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หน้าที่และอำนาจ ตามพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562 แล้ว เป้าหมายในการตอบสนอง S-Curve ที่ 11 ปัจจุบัน สทป. ได้เสนอแนวทางการดำเนินการที่แบ่งเป็น 4 ระยะ (เร่งด่วน : เม.ย.-ก.ย.62ระยะสั้น : ต.ค.62-ก.ย.63 ระยะกลาง ต.ค.63-ก.ย.65 และ ระยะยาว ต.ค.65-ก.ย.70) โดยกระทรวงกลาโหมได้ร่วมกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความพร้อมในการผลิตเชิงพาณิชย์ จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ 1) การผลิตและประกอบรวมลูกระเบิดยิง ขนาด 40 มม. 2) การผลิตชนวนท้ายสำหรับกระสุนปืนพกและปืนเล็กยาว 3) โครงการผลิตอากาศยานไร้คนขับปีกนิ่งขึ้น-ลงทางดิ่ง FUVEC, การผลิตอากาศยานไร้คนขับ 4) การจัดตั้งโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์ทางทหารร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน 5) โครงการอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กแบบส่งด้วยมือ และการต่อเรือ และระยะต่อไปจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 6) โครงการผลิตกระสุนขนาด 30 มม. ชนิดลูกจริง 7) โครงการยานเกราะล้อยางสำหรับปฏิบัติภารกิจของนาวิกโยธิน ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดนี้จะถูกผ่านการประเมินความคุ้มค่า การทดสอบ การนำเข้าสู่สายการผลิต จนเริ่มมีผลผลิตออกมาเป็นรูปธรรมในห้วงระยะกลาง