กรมฝนหลวงฯ น้อมนำศาสตร์พระราชา ใช้เทคนิคซุปเปอร์แซนด์วิช โจมตีเมฆ ทำให้ฝนตกลงในพื้นที่เป้าหมาย จ.นครราชสีมา สำเร็จ!! เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2562 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการ กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ภัยแล้งที่มีพื้นที่การเกษตรประสบปัญหาอยู่และมีแนวโน้มขยายวงกว้างมากขึ้นอีกหลายพื้นที่ของทุกภูมิภาค รวมถึงช่วยเติมน้ำให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับรองรับสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงที่จะเกิดขึ้น โดยทั้ง 10 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จะมีการวางแผนการปฏิบัติการในแต่ละวันว่าจะใช้เทคนิคการทำฝนแบบใดเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตรงพื้นที่เป้าหมายได้มากที่สุด ซึ่งตามตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 จะมีเทคนิคซุปเปอร์แซนด์วิช ที่ใช้ในการโจมตีเมฆอุ่นและเมฆเย็นในเวลาและพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้มีปริมาณฝนตกลงมาในพื้นที่เป้าหมายให้ได้มากที่สุด โดยจากผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.62) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 5 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครราชสีมา ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงโดยใช้เทคนิคซุปเปอร์แซนด์วิช ใช้เครื่องบินทั้งหมด 3 ลำ คือ เครื่องบินกาซ่า 2 ลำ สำหรับบินในระดับใต้ฐานเมฆและเหนือเมฆของเมฆอุ่น และเครื่องบินซุปเปอร์คิงแอร์ 1 ลำ สำหรับบินในระดับเหนือเมฆเย็นขึ้นไป เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำพระเพลิง และพื้นที่การเกษตร อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ทำให้มีฝนตกในปริมาณ 20 มิลลิเมตร ในพื้นที่ดังกล่าวได้สำเร็จ ขณะที่หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ขอนแก่น ลพบุรี ราชบุรี และสระแก้ว ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง พื้นที่การเกษตร และพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่บางส่วนของ จ.หนองบัวลำภู อุดรธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี เพชรบูรณ์ ราชบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว รวมถึงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาด อ่างเก็บน้ำห้วยสำนักไม้เต็ง อ่างเก็บน้ำบ้านลานคา และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2562 ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง ยังคงมีจำนวน 8 จังหวัด (รวม 30 อำเภอ 124 ตำบล 1,023 หมู่บ้าน) ประกอบด้วย จ.พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เชียงราย สุโขทัย ศรีสะเกษ มหาสารคาม ตราด และชลบุรี ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 20 แห่ง อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 แห่ง ภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคกลาง 4 แห่ง และภาคตะวันออก 3 แห่ง และเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 166 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีจำนวนลดลงจากเมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.62) 112 แห่ง เป็น 110 แห่ง ซึ่งยังมีความต้องการน้ำอย่างต่อเนื่อง ด้านผลการตรวจสภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ จากสถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ สถานีเรดาร์อมก๋อย และสถานีเรดาร์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จ.เชียงใหม่ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 80% (อมก๋อย) 79% (ร้องกวาง) 91% (เชียงใหม่) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 63% (อมก๋อย) 67% (ร้องกวาง) 76% (เชียงใหม่) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.0 (อมก๋อย) 0.0 (ร้องกวาง) -1.1 (เชียงใหม่) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.เชียงใหม่ จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำดอยงู อ่างเก็บน้ำแม่สรวย จ.เชียงราย อ่างเก็บน้ำ แม่ตีบ อ่างเก็บน้ำแม่สาน จ.ลำพูน และหน่วยปฏิบัติการฯ จ.ตาก ตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.พิจิตร และ จ.พิษณุโลก พื้นที่ภาคกลาง จากผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จ.นครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 86% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 62% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.1 ซึ่งเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง แต่เนื่องจากบริเวณสนามบินที่ จ.ลพบุรี และราชบุรี มีเมฆชั้นกลางและชั้นสูงปกคลุมค่อนข้างหนาแน่น ทั้ง 2 หน่วยปฏิบัติการฯ จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันที พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา และสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 85% (พิมาย) 79% (บ้านผือ) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 80% (พิมาย) 79% (บ้านผือ) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -2.2 (พิมาย) –1.7 (บ้านผือ) แต่เนื่องจากสภาพอากาศในบริเวณสนามบินที่ จ.ขอนแก่นและนครราชสีมา มีสภาพปิด หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบทันที พื้นที่ภาคตะวันออก จากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่า มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 88% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 65% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.4 แต่เนื่องจากสภาพอากาศในพื้นที่มีเมฆชั้นกลางและชั้นสูงปกคลุมอยู่เป็นจำนวนมาก และมีลมมรสุมค่อนข้างแรง หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สระแก้ว จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบทันที และพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี สถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร และศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก จ.สงขลา พบว่า มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 66% (พนม) 55% (ปะทิว) 45% (สงขลา) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 54% (พนม) 61% (ปะทิว) 68% (สงขลา) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.6 (พนม) -1.8 (ปะทิว) -2.5 (สงขลา) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สงขลา จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.พัทลุง ส่วนหน่วยปฏิบัติการฯ จ.สุราษฎร์ธานี และหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีเหมาะสมความจะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไป “อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ทันที เมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทั้งนี้ สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคของประเทศ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์/เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร”อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าว