“...คำว่า วัฒนธรรมนี่ จะแปลว่าอะไรก็แล้วแต่จะตีความ ความจริงแปลว่า ความเจริญความก้าวหน้า แต่วัฒนธรรมในที่นี้ก็คงจะบ่งถึงว่า มีความเจริญมาช้านาน ไม่ใช่ว่ามีความเจริญก้าวหน้า แต่มีความเจริญมาเป็นเวลาช้านาน ต่อเนื่องมาและจนกระทั่งฝังอยู่ในสายเลือด แต่ถ้าเราไปแสดงตนว่ามีวัฒนธรรม ว่ามีฝีมือ เท่านั้นเองก็ไม่พอ ต้องแสดงว่าวัฒนธรรมของเราอยู่ในเลือด วัฒนธรรมไทยมีความอ่อนโยน ก็ต้องเป็นคนอ่อนโยนทั้งในเวลาที่มาแสดง ทั้งนอกเวลาแสดง วัฒนธรรมหมายถึงว่าเป็นคนที่มีความคิดสูงด้วย อย่างเราบอกว่าคนนี้มีวัฒนธรรมหรือคนที่ไม่มีวัฒนธรรม หมายความว่าคนนี้หยาบคายหรือคนนี้อ่อนโยน มีความ สุภาพเรียบร้อย ก็แสดงความสุภาพเหมือนกัน ให้เห็นว่า ความสุภาพอ่อนโยนนั้นอยู่ในเลือดของคนไทย...” พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานแก่คณะนาฏศิลป์จากกรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ช่วงที่ฝนตั้งเค้าบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร 3-7 มิถุนายน 2562 ที่สุดก็เทลงมาอย่างที่ตั้งเค้าเป็นฝนตกหนักหลายพื้นที่ เฉพาะอย่างยิ่งวันที่ 7 มิย.ตกหนักแบบไม่ลืมหูลืมตาเป็นชั่วโมง แล้วยังมีลมพัดแรงพ่วงมาด้วย หลายเขต น้ำฝนไหลลงท่อไม่ทันรอระบายเลยท่วมถนน ตรอก ซอกซอยหลายจุด เล่นเอารถราติดกันเป็นวงกลมสี่มุมเมือง ผู้คนสัญจรด้วยความยากลำบากทุลักทุเลเป็นข่าวทางสื่อทุกแขนงประเภท ภารกิจช่วงดังกล่าวอยู่ที่ภาคอีสานพอดีพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดมุกดาหารและจังหวัดอำนาจเจริญ เยือนศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชหลายแห่งในหลายชุมชนทั้งสามจังหวัด ในพื้นที่ไม่เจอฝนเลย เจอแต่ตั้งเค้าว่าฝนจะตก หรือว่าจะไปตกเอาตอนกลางคืนบ้างก็ไม่แน่ใจเพราะหลับแบบสนิทเลยแทบทุกคืน แต่ก็มาเจอฝนที่กทม.วันกลับคือวันที่ 7 มิย. ติดตามเยี่ยมเยียนเป็นขวัญกำลังใจและนำการส่งเสริมสนับสนุนไปสู่ชาวชุมชนผู้รวมพลังดูแล “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช”ที่ร่วมสร้างความเข้มแข็งในหลายมิติของชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการพัฒนาอาชีพหลักดั้งเดิมคือการเกษตรกรรมที่แม้จะพึ่งพิงอยู่กับธรรมชาติเป็นหลัก โดยในช่วงที่ผ่านมาชาวชุมชนรวมพลังกันน้อมนำเอาหลักการทำเกษตรตามทฤษฎีใหม่ด้วยวิถีแห่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรปรับประยุกต์ใช้ดำเนินชีวิตจนสามารถดำรงชีวิตมีความสุขด้วยผลผลิตที่พอเลี้ยงชีพอันเกิดจากการพัฒนา เพิ่มคุณค่าผลผลิต เพิ่มมูลค่าผลผลิตนำพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการส่งเสริมสนับสนุนของภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนร่วมด้วย แม้แต่สวธ.ก็ร่วมส่งเสริม สำคัญคือความเข้มแข็งที่เกิดจากความสมัครสมานสามัคคีนี้นำพาสู่การมีพลังอนุรักษ์ สืบสาน แล้วต่อยอดวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาที่ดีงาม นำความเจริญงอกงามในอดีตที่บรรพชนสร้างสรรค์ มาเป็นรากฐานสืบสานต่อยอดให้เกิดความเจริญ เกิดภาคภูมิใจแห่งการเป็นเบ้าหลอมคุณงามความดีของคนรุ่นต่อๆมาแล้วสืบสานต่อไป กับโครงการส่งเสริมและพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชปี 2562 ณ ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชที่ตั้งอยู่ในชุมชนอาณาเขตพื้นที่ ณ จังหวัดที่กล่าวข้างต้นโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม(สวธ.วธ.)ร่วมกับชุมชนจัดตั้งขึ้นเพื่อสืบสานพระราชปณิธานถวายเป็นพระราชกุศลนำผู้ทรงคุณวุฒิร่วมไปในโครงการมีนางวนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ นางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้เขียน(นายเสกสรร สิทธาคมหนังสือพิมพ์สยามรัฐ) ดร.เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ ประธานสถาบันปัญญ์สุข ดร.อรุณศรี อื้อศรีวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวมิติทางวัฒนธรรม และวิษณุ เอมประณีต นำคณะโดยผู้บริหารรับผิดชอบโครงการจากสวธ.นางมานัสศรี ต้นไล้ผอ.กลุ่ม นางสาวสุดดา เจี่ยสกุล ผอ.กลุ่ม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่นางสาวอมรรัตน์ คำเหล็ก และนางสาวกฤติญา แก้วพิทักษ์ "ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช"มีอยู่ในชุมชนทั่วประเทศที่สวธ.ร่วมกับชุมชนตั้งขึ้นมีทั้งสิ้น 101แห่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยน้อมนำหลักคิดหลักปฏิบัติคือวิถีแห่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตที่พระราชทานไว้ ผ่านหลักการทรงงานผ่านพระราชกรณียกิจที่ทรงทำไว้อย่างทุ่มเทพระองค์เป็นที่ประจักษ์ตลอดเวลาแห่งการครองราช 70 ปีทั้งทรงศึกษา ทรงทดลอง และได้ทรงทำการปฏิบัติจริงจนประสบเป็นผลสำเร็จตามที่ทรงปฏิบัติ ไปขยายผลสู่ชาวชุมชน หลักสำคัญที่ทรงทำให้เห็นประจักษ์แก่ปวงชนชาวไทยเป็นรูปธรรมที่ปรากฏแก่สายตาพสกนิกร ย้ำขยายผลแก่ชาวชุมชนคือทรงยึดมั่นในหลักคุณธรรม อันเป็นหลักทรงงานแห่งพระองค์คือทรงทุ่มเทพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยพระวิริยะอุตสาหะ(ความเพียร) ไม่ทรงย่อท้อไม่ว่าจะยากลำบากแค่ไหนไม่ทรงคำนึงความเหน็ดเหนื่อย โดยทรงพยายามประยุกต์ใช้วัสดุวัตถุดิบทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งหลักคิดหลักปฏิบัติที่ทรงทำจริงให้เห็นนั้นคือหลักการดำเนินชีวิตที่เรียกว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงมีพระราชประสงค์ถ่ายทอดขยายผลสู่ประชาชนในท้องถิ่นชนบทอันจะเป็นการส่งเสริมประชาชนในท้องถิ่นให้สามารถนำประยุกต์ใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้มีความสุขอย่างยั่งยืนจนเป็นครอบครัวเป็นชุมชนแข้มแข็งบนความพออยู่พอกินพร้อมทั้งพอมีพลังในการอนุรักษ์สืบสานมรดกภูมิปัญญา และสามารถที่จะเป็นผู้รวบรวมมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์ ถ่ายทอดวัฒนธรรมสู่คนรุ่นลูกหลาน รุ่นหลังๆรวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนได้เรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อนำไปพัฒนามรดกวัฒนธรรมของท้องถิ่นสู่ความอยู่ดี กินดี และความมั่นคงของประเทศ ต่อไป เกริ่นไว้พอเห็นภาพกิจกรรมลงพื้นที่ในช่วงเวลาดังกล่าวกับสวธ.ไปสัมผัสศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชที่สื่อภาพความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น คงจะได้นำเล่าภาพเท่าที่ได้สัมผัสกันต่อไปครับ