มกอช. จับมือ ส.ป.ก. เปิดโต๊ะสัมมนาพัฒนากลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวโพดเพชรบูรณ์-ลพบุรี เข้าสู่ระบบการผลิตตามมาตรฐานข้าวโพดเมล็ดแห้ง GAP ตั้งเป้าพื้นที่ 2 ล้านไร่ ผ่านการรับรองมาตรฐานแบบกลุ่ม ภายใน 5 ปี มุ่งลดปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่า/เขาหัวโล้น นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า จากที่ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ได้มอบหมายให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันบูรณาการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า/เขาหัวโล้นนั้น ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ โดย มกอช. ได้ดำเนินการส่งเสริมการนำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง (GAP) ไปใช้ เนื่องจากข้อมูลปี 2559 พบว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดเมล็ดแห้งในประเทศไทย ประมาณ 7.8 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ถูกต้องตามกฎหมาย 4.1 ล้านไร่ และพื้นที่ในเขตป่าไม้ 3.7 ล้านไร่ ทั้งนี้ในพื้นที่ที่ถูกกฎหมาย มีการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เพียง 13,000 ไร่ ดังนั้นเพื่อส่งเสริมการนำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง (GAP) ไปใช้ โดยเน้นการให้ความรู้และรับรองมาตรฐานแบบกลุ่ม เพื่อให้สามารถรับรองเกษตรกรจำนวนมากได้ในระยะเวลาอันสั้น พร้อมตั้งเป้าหมายการส่งเสริมการรับรองในระยะเวลา 5 ปี ประมาณ 2 ล้านไร่ ในพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่ผ่านมา มกอช. ร่วมกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ดำเนินการส่งเสริม ให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อความเข้าใจใน หลักการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และรายละเอียดกระบวนการรับรองแบบกลุ่ม ในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และลพบุรี ตั้งแต่ปี 2560-ปัจจุบัน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ดังกล่าว 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มข้าวโพดซับพุทราพัฒนาแบบยั่งยืน กลุ่มโคกสารก้าวหน้าพัฒนาข้าวโพดแปลงใหญ่ กลุ่มข้าวโพดเกาะรังก้าวหน้า และกลุ่มข้าวโพดเขารวกพัฒนาก้าวไกล เพื่อส่งเสริมเกษตรกรจัดระบบและคู่มือการทำงานภายในกลุ่ม รวมถึงแบบฟอร์มการตรวจประเมินภายในกลุ่ม ซึ่งได้รับการตรวจประเมิน จาก ส.ป.ก. เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ มกอช. และ ส.ป.ก. เล็งเห็นว่า ควรมีการจัดสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ระหว่างกลุ่มเกษตรกร และทบทวนความรู้ของระบบควบคุมคุณภาพภายใน และการตรวจ ประเมินแปลง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการด าเนินงานภายในของกลุ่มตามข้อกำหนดของการรับรองแบบกลุ่ม ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีความพร้อมสำหรับการตรวจติดตามประจำปี จึงได้จัดโครงการสัมมนาเพื่อพัฒนาความพร้อมเข้าสู่ระบบการผลิตขึ้น ณ ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ปัญหา แนวทางการแก้ไขในการดำเนินงานการรับรองแบบกลุ่ม รวมทั้งให้เกษตรกรสามารถปฏิบัติตามคู่มือได้อย่างถูกต้อง และเป็นไปตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางเกษตรที่ดีสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง (GAP) และเตรียมความพร้อมสำหรับการยื่นขอการรับรองแบบกลุ่ม “การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเข้าสู่ระบบ และสามารถยื่นขอการรับรองแบบกลุ่มได้นั้น เกษตรกรต้องมีการบริหารจัดการระบบคุณภาพของกลุ่มให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดระบบควบคุมคุณภาพภายใน ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม รวมทั้งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข ของหน่วยรับรอง รวมถึงการตรวจแปลงเพื่อติดตามสอดส่องดูแลระหว่างสมาชิกอย่างใกล้ชิด การรับรองแบบกลุ่มเป็นระบบที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนในการผลิตผ่านกลไกการควบคุมคุณภาพภายใน และสร้างอำนาจการต่อรองทั้งการซื้อปัจจัยการผลิต และการจำหน่ายผลผลิตผ่านการดำเนินการของกลุ่ม”รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว