นายสุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์บทความ การเมืองแห่งเรื่องเล่าของธนาธร ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Suvinai Pornavalai ระบุข้อความว่า... ความสำเร็จในการเลือกตั้งเดือนมีนาคม ปี 2562 ของธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ เป็นความสำเร็จของ "การเมืองแห่งเรื่องเล่า" ที่แยกไม่ออกจาก "การเมืองแห่งตัวตน"ของธนาธรก็ว่าได้ เพราะปัจจัยของความสำเร็จในครั้งนี้มิได้มาจาก "การเมืองแห่งปากกระบอกปืน" และ"การเมืองแห่งเงินซื้อเสียง"(Money Politics) เหมือนอย่างในอดีต ธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ใช้เงินลงทุนแค่ 250 ล้านบาทเองในการได้สส.ถึง 80 ที่นั่ง โดยเงินทั้งหมดนี้มาจากการที่ธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่ "กู้ล่วงหน้า" ไปเคลื่อนไหวหาเสียงเลือกตั้ง ถ้าธนาธรเป็นนักการเมืองแบบเก่า เขาคงยินดีร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ธนาธรน่าจะได้ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและพรรคของเขาน่าจะได้บริหารกระทรวงเกรด A อย่างน้อยสองกระทรวงโดยเข้ามาแทนที่พรรคภูมิใจไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อคำนวณตามสูตรคณิตศาสตร์ แต่ธนาธรทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะ "การเมืองแห่งเรื่องเล่า" บีบให้เขาต้องเป็นปฏิปักษ์กับคสช.และพรรคพลังประชารัฐ นอกจากนี้ เป้าหมายสุดท้ายของธนาธรมองไปไกลกว่าการได้เป็นนายกรัฐมนตรีไปมากแล้ว เขาต้องการได้อำนาจรัฐและอำนาจจากพลังประชาชน เพื่อให้ ××× เรียกตัวเขาไปพบ เขาจะได้เป็นตัวแทนประชาชนต่อรองกับ ××× (บทสัมภาษณ์ของธนาธรในหนังสือ " Portrait ธนาธร" ตุลาคม ปี 2561) แล้วทำการลงประชามติว่าจะยินยอมอนุญาตให้สถาบันดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ (ระบอบประชาธิปไตยที่อนุญาตให้สถาบันดำรงอยู่ต่อไปได้)(คำพูดของปิยบุตร เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่) นี่เป็นหมากบังคับที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของธนาธร เพราะ "การเมืองแห่งเรื่องเล่า" ที่เขาใช้ปลุกระดมเคลื่อนไหวหาเสียงฉายภาพว่า สถาบันฯที่เป็นปลายยอดบนสุดของชนชั้นนำ 1% เป็นที่มาแห่งปัญหาทั้งหลายทั้งปวงของบ้านเมือง "การเมืองแห่งเรื่องเล่า" ของธนาธร จึงเป็น "การเมืองแห่งความเกลียดชัง" โดยตัวของมันเอง เพราะแกนหลักในเรื่องเล่าของธนาธรคือ การต่อสู้ระหว่างชนชั้น โดยเฉพาะกับชนชั้นนำที่ธนาธรฝังหัวกับลัทธิมาร์กซ์และอุดมการณ์ซ้ายใหม่ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ "การเมืองแห่งเรื่องเล่า" ของธนาธรจึงแยกไม่ออกจากตัวตนและการเมืองแห่งตัวตนของธนาธร มันเป็นความจริงอย่างยิ่งที่ "ตัวตน"ของแต่ละปัจเจกถูกสร้างขึ้นด้วยชุดบรรทัดฐานและชุดคุณค่าจำเพาะชุดหนึ่งที่มาพร้อมๆกับความจริงทางประวัติศาสตร์และระบบเศรษฐกิจ-การเมืองอันจำเพาะที่ครอบงำและควบคุมผู้นั้นตั้งแต่ถือกำเนิดลืมตาดูโลก เราจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์/สังคม หรือบริบททางประวัติศาสตร์/สังคม ก็คงได้ มันมีส่วนสำคัญยิ่งในการหลอมสร้าง "ตัวตน" ของเราแต่ละคนอย่างไม่ต้องสงสัย ... ในฐานะที่เป็นปัจจัยภายนอกที่กำหนดคุณค่าภายในที่ปัจเจกยึดถือเป็นแก่นของตัวตนแห่งตน โดยเฉพาะเรื่องบรรทัดฐาน-คุณค่า-ทัศนคติในการมองโลก มองชีวิตของผู้นั้น แต่ทำไม ชุดบรรทัดฐาน-คุณค่าของบางคนจึงแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ ทั้งๆที่ถือกำเนิดมาในสิ่งแวดล้อม บริบททางสังคมและประวัติศาสตร์แบบเดียวกัน ว่ากันตรงๆเลย ทำไมตัวตนของปัจเจกบางคนอย่างธนาธรจึงมีลักษณะ "ต่อต้านสังคม" หรือ "ขบถต่อสังคม"? เรื่องแบบนี้จะอธิบายด้วยปัจจัยภายนอกไม่น่าจะเพียงพอ เกิดเป็นคนเหมือนกัน แต่ไม่เท่าเทียมกันในคุณสมบัติภายในต่างๆ ไม่ว่าความสามารถในการเรียนรู้ ระดับคุณธรรมในจิตใจ ระดับความตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ ความสำนึกในผิดชอบชั่วดี วิจารณญาณในการแยกแยะเรื่องราวต่างๆ รวมทั้งแนวโน้มในการยึดติด/ยึดมั่นถือมั่นกับชุดบรรทัดฐานและชุดคุณค่าบางอย่าง ฯลฯ สิ่งนี้กระมังที่ทำให้ คนเราต่างกันแม้จะเป็นคนเหมือนกัน คนเราจึงไม่มีวันเท่ากันได้ในความเป็นจริง แต่มีศักยภาพที่จะรู้แจ้งหรือปลดปล่อยตัวเองทางจิตวิญญาณได้เหมือนกันแม้จะไม่เท่ากันก็ตาม ผมคิดว่า การก้าวข้าม"ตัวตน"ของเราเอง เป็นวาระที่ท้าทายยิ่ง ไม่ว่าเราเกิดมาในยุคสมัยไหน ถ้าคนแต่ละคนไม่ยึดถือเรื่องการ "ก้าวข้ามตัวตน" เป็นวาระแห่งชีวิตของตนเอง ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตจริง ในสายตาของผม ธนาธรไม่เพียงไม่รู้จักตัวตนของตนเองเท่านั้น เขายังถูกตัวตนของเขาครอบงำทางความคิด กลายเป็นร่างทรงของชุดความคิดแบบ"ปฏิกษัตริย์นิยม" อย่างเต็มตัว และพยายามขยายอิทธิพลทางความคิดของเขาออกไปสู่ผู้คนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีตัวตน "การเมืองแห่งเรื่องเล่า" เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในเวทีการเมืองไทย สนามหลักเป็นสนามรบทางความคิด ผู้ที่กุมชัยชนะใน "การเมืองแห่งเรื่องเล่า"จะกุมอำนาจรัฐได้ในที่สุด ธนาธรในตอนนี้แทบไม่ต่างจากปรีดี พนมยงค์ในวัยฉกรรจ์แต่อย่างใดเลย เขาจะส่งผลกระทบต่ออนาคตของสถาบันฯอย่างแน่นอน