กรมวิชาการเกษตร ปกป้องตลาดส่งออกรถยนต์ในออสเตรเลียมูลค่า 1.96 แสนล้าน จับมือออสเตรเลีย-ยักษ์ใหญ่ส่งออกรถยนต์ของไทย 8 ค่าย จัดอบรมเสริมเขี้ยวเล็บระบบตรวจสอบวัชพืชที่ปนเปื้อนในรถยนต์ใหม่ที่เตรียมส่งออกไปออสเตรเลีย ส่งผลยอดปนเปื้อนลดวูบจาก 2 หมื่นคัน/ปี เหลือเพียง 400 คัน/ปี พร้อมดันยอดส่งออกปี 61 ฉลุย 3 แสนคัน ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศ ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบและกักกันพืช กรมวิชาการเกษตร และทรัพยากรน้ำของออสเตรเลีย ได้ร่วมกันจัดประชุม “Motor Vehicle Inspection Program-Information Session” ขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์และเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขและบันทึกข้อตกลงในโครงการตรวจสอบวัชพืชในรถยนต์ใหม่เพื่อการส่งออกไปออสเตรเลีย (Motor Vehicle Inspection Program : MVIP) ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ตรวจสอบรถยนต์ กรมสำนักศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และบริษัทผู้ส่งออกออกรถยนต์ของไทยที่ส่งออกรถยนต์ใหม่ไปยังออสเตรเลีย 8 ราย ได้แก่ 1.มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย 2.บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด 3.บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด 4.บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด 5.บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด 6.บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ประเทศไทย จํากัด 7.บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และ8.บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ไปยังประเทศออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 โดยปี 2561มีมูลค่าส่งออกกว่า 196,135 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกสำคัญ 3 อันดับแรก คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถบรรทุก ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ แต่เนื่องจากออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นเกาะ จึงมีมาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่เข้มงวด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดศัตรูพืช วัชพืช แมลง โรค และสิ่งปนเปื้อนต่างๆซึ่งอาจส่งผลเสียต่อผลผลิตทางการเกษตร ระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมในประเทศสูงมาก โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญทางการค้าคือ กำหนดให้รถยนต์ใหม่ที่จะส่งออกไปยังออสเตรเลียจะต้องสะอาด ไม่มีสิ่งปนเปื้อน ซึ่งที่ผ่านมา ออสเตรเลียได้ตรวจพบเมล็ดวัชพืชกักกันอยู่ในบัญชีรายชื่อพืชต้องห้ามนำเข้าของออสเตรเลียหลายชนิด อาทิ เมล็ดธูปฤาษี พงหญ้าคา และสาบเสือติดมากับส่วนต่างๆของรถ เช่น พลาสติกเหนียว จารบี กระบะหลังรถ หรือรอยแยกต่างๆ เมื่อมีการตรวจพบรถที่นำเข้ามาจะถูกส่งไปทำความสะอาดและตรวจสอบอีกครั้งก่อนปล่อยออกจากท่าเรือ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูงสำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งแต่ละปีออสเตรเลียมีการนำเข้ารถยนต์มากกว่าล้านคัน โดยแหล่งนำเข้า 90 เปอร์เซ็นต์มาจาก 6 ประเทศคือ ญี่ปุ่น ไทย เกาหลี เบลเยี่ยม สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี และมีสถิติการตรวจพบวัชพืชต้องห้ามติดไปกับรถยนต์ที่เข้าทั้งหมดประมาณ 86 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ออสเตรเลียเพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจรถยนต์ที่นำเข้าจากประเทศต่างๆมากขึ้น โดยได้ทำการสุ่มตรวจรถยนต์ที่ท่าเรือนำเข้าของออสเตรเลียประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ และหากตรวจพบเมล็ดวัชพืชติดไปกับรถยนต์เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจ 100 เปอร์เซ็นต์ในทันที โดยผู้นำจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในตรวจสอบทั้งหมดรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการล้างทำความสะอาดรถยนต์ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูง ดังนั้น ในปี2552 กรมวิชาการเกษตรของไทยและกรมวิชาการเกษตรและทรัพยากรน้ำของออสเตรเลีย จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงภายใต้โครงการ MVIP ร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการส่งออกรถยนต์ของไทยไปประเทศออสเตรเลียและจัดการความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางชีวภาพที่อาจเกิดขึ้น โดยหนึ่งในเงื่อนไขคือ กำหนดให้มีการจัดอบรมผู้ตรวจสอบเมล็ดวัชพืชในรถยนต์และผู้ที่เกี่ยวข้อง Training for inspector และการขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบรถยนต์โดยมีอายุการขึ้นทะเบียน 5 ปี และมีประกาศเงื่อนไขการรับรองปลอดวัชพืชในรถยนต์ที่ส่งออกไปออสเตรเลีย จะต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกรถยนต์ เป็นต้น ปัจจุบันมีผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบรถยนต์จำนวน128คนและเจ้าหน้าที่ผู้อบรมผู้ตรวจสอบรถยนต์จำนวน 9 คน ด้าน นายนายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังไทยและออสเตรเลียได้จัดทำโครงการ MVIP โดยจัดให้มีการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนให้การรับรองบุคลากรในอุตสาหกรรมรถยนต์ให้สามารถตรวจสอบ ทำความสะอาดและรับรองได้ว่ารถยนต์ใหม่ปลอดจากสิ่งปนเปื้อนต่างๆการส่งออกไปยังออสเตรเลีย ส่งผลให้ปัจจุบันทางออสเตรเลียตรวจพบสิ่งปนเปื้อนในรถยนต์ที่นำเข้าจากไทยลดลงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมตรวจพบปีละ 20,000 คันในปี 2561 ลดลงเหลือแค่ 400 คันเท่านั้น ทั้งนี้ ในปี 2561 ที่ผ่านมาไทยส่งออกรถยนต์ใหม่ไปยังออสเตรเลียจำนวน 300,000 คัน ทำให้รถยนต์จากประเทศไทยสามารถนำเข้าไปในออสเตรเลียได้รวดเร็วขึ้นและมีค่าใช้จ่ายน้อยลง ตลอดจนผลักดันให้รถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดออสเตรเลียที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามในปีนี้กรมวิชาการเกษตรไดทำการถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบภาคเอกชนแล้ว 100% ทั้งนี้ โดยกรมวิชาการเกษตรก็ยังทำหน้าที่ตรวจติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบรถยนต์อย่างต่อเนื่อง ส่วน นายเจค ซิง รองอธิบดีด้านนโยบายควบคุมเพื่อให้เป็นตามข้อกำหนด กระทรวงเกษตรและทรัพยากรน้ำของออสเตรเลีย กล่าวว่า โครงการ “MVIP” ถือเป็นโครงการร่วมดำเนินการระหว่างรัฐบาลสองประเทศ ซึ่งจะมีภาคอุตสาหกรรม ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ให้บริการท่าเรือ ผู้ให้บริการสายเรือร่วมด้วย โดยบริษัท เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนและการตรวจประเมินเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขของโครงการทุกครั้งที่มีการส่งออกโดยจะต้องส่งรายงานการตรวจรถยนต์ที่ได้รับการตรวจสอบให้ทางออสเตรเลีย ซึ่งต้องชมเชยประเทศไทยที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีแผนที่จะนำแนวทางความสำเร็จในการปฏิบัติของประเทศไทยเป็นต้นแบบในการนำไปขยายผลกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นๆ อาทิ ญี่ปุ่น เกาะหลี และไต้หวันนำหลักการเดียวกันกับไทยไปใช้ปฏิบัติเพื่อส่งออกไปยังออสเตรเลีย