อธิบดีประมง เร่งแจง ม็อบประมง เดือดร้อนจากไอยูยู ชี้เพิ่มขั้นตอนตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มา เพื่อให้ต่างประเทศมั่นใจยังคงซื้อสินค้าประมงไทย ยันยอดนำเข้าเพียงร้อยละ 0.6 เมื่อวันที่12 มิ.ย.นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวชี้แจงกรณีสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และชาวประมงทั่วประเทศ เตรียมนัดประขุมเพื่อเสนอปัญหาให้รัฐบาลใหม่ช่วยเหลือ ระบุกฏหมายประมงใหม่หลังจัดระเบียบไอยูยู กำหนดขั้นตอนยุ่งยากในการขออนุญาตนำสินค้าประมง ขึ้นฝั่ง และภาครัฐยังปล่อยให้นำเข้า ทำให้แย่งส่วนแบ่งการตลาดภายในประเทศราคาตกต่ำ ว่า การออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และแก้ไขซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการปฏิรูปการประมงเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการประมงของไทย โดยทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องต้องมีความโปร่งใส และเป็นธรรม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต ซึ่งในบางเรื่องเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น การที่ชาวประมงและผู้ประกอบการต้องมีการจัดทำเอกสารเพื่อให้ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าตั้งแต่จับสัตว์น้ำจนถึงส่งออก เพื่อให้ผู้ซื้อปลายทางมั่นใจได้ว่าสินค้าเหล่านั้นมีแหล่งที่มาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ เพื่อลดภาระผู้ประกอบการและเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบย้อนกลับ กรมประมงจึงได้มีการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกการส่งออกสินค้าประมง (FSW) ซึ่งผู้ส่งออกเพียงแค่ระบุเฉพาะเลขที่หนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (Marines Catch Purchasing Document : MCPD) หรือใบรับรองการจับสัตว์น้ำของวัตถุดิบที่มีการซื้อและนำมาผลิต โดยหมายเลขดังกล่าวจะทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าสินค้ารุ่นนี้ผลิตมาจากวัตถุดิบที่ได้มาจากการจับของเรือประมงลำไหน จับที่ไหน/เมื่อไหร่/มีแรงงานกี่คน/ชื่ออะไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคปลายทางว่าสินค้าสัตว์น้ำนั้นไม่มาจากการทำประมงที่ผิดกฎหมายหรือเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ภายใต้นโยบายที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นจุดแข็งของสินค้าประมงไทยที่ผู้ซื้อปลายทางมั่นใจและยังคงซื้อสินค้าไทย ภายใต้กรอบการค้าเสรี ทุกประเทศได้มีความพยายามร่วมกันในการที่จะอำนวยความสะดวกและลดเงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดภาระในการนำเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีการแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรมประมงได้มีการติดตามสถานการณ์การนำเข้าโดยตลอด พบว่าปริมาณสินค้าสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคในประเทศที่ได้จากการทำการประมงทะเลจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยังติดปัญหา IUU อยู่นั้น จากข้อมูลการนำเข้าของด่านตรวจสัตว์น้ำกรมประมง พบว่ามีปริมาณการนำเข้าเพียง 9,000 ตัน/ปี เมื่อเปรียบเทียบกับผลผลิตภายในประเทศถือได้ว่าเป็นปริมาณที่น้อยมาก เพียงร้อยละ 0.6 อย่างไรก็ตาม กรมประมง ก็ได้มีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการนำเข้าเช่นเดียวกับมาตรการที่ไทยใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำในประเทศ กล่าวคือผู้นำเข้าจะต้องแสดงเอกสารที่รัฐบาลประเทศที่นำสินค้าเข้าออกให้เพื่อแสดงว่าสัตว์น้ำที่นำเข้ามานั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย โดยต้องแสดงรายชื่อของเรือประมงที่ทำการจับสัตว์น้ำ เลขที่ใบอนุญาต วันที่ทำการประมง ตลอดจนน้ำหนักสัตว์น้ำที่จับได้ ของสินค้าที่นำเข้าทั้งหมด นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีการกำหนดมาตรการด้านสุขอนามัย โดยดำเนินการเฝ้าระวังสุ่มตรวจตัวอย่างสัตว์น้ำที่นำเข้า ณ ด่านตรวจสัตว์น้ำเพื่อตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม กรมประมงจะได้ดำเนินการติดตาม เฝ้าระวัง สถานการณ์ดังกล่าว เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป