ที่โรงแรมดิอิมพีเรียล อ.เมือง จ.นครราชสีมา เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 12 มิถุนายน นายบุญยืน คำหงส์ ประธานอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต เป็นประธานเปิดการประชุมส่งมอบข้อเสนอการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) หลักประกันสุขภาพ มาตรา 18 (13) ประจำปี 2562 โดยมีผู้แทนหน่วยบริการ,องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ,ผู้แทนกลุ่มผู้รับบริการที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า,พระสงฆ์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ให้บริการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 9 กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา-ชัยภูมิ-บุรีรัมย์-สุรินทร์) จำนวน 150 คน ร่วมเวทีรับฟังความเห็นและข้อเสนอนโยบายพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นข้อสนอปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขในสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือบัตรทองในประเด็น 1.ด้านประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.ด้านการบริหารจัดการสำนักงาน 4.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5.ด้านการบริหารจัดการกองทุน ฯ ระดับท้องถิ่นและพื้นที่ 6.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ 7.ด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ แพทย์หญิงลลิตยา กองคำ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ผลสรุปจากการเปิดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆในหน่วยบริการกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ มีประเด็นสำคัญดังนี้ ทันตกรรมไม่ควรแยกสิทธิประโยชน์ให้เน้นการป้องกันและการรักษาโรคเกี่ยวกับฟันและเหงือกให้แก่กลุ่มเด็ก,ผู้สูงอายุและผู้หญิงตั้งครรภ์ การจัดลำดับคิวการใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐที่มีระยะเวลารอพบแพทย์นานมากและการใช้บริการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ยังพบการเรียกเก็บค่าบริการ อย่างไรก็ตามทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกโดยให้บอร์ด สปสช.นำไปพิจารณาด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในแต่ละปี สปสช. ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นรวม 13 เขตบริการทั่วประเทศ เพื่อระดมทุกประเด็นทั้งข้อเสนอและข้อท้วงติง เน้นการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มุ่งสู่การปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานบริการ สปสช. แม้นบางข้อไม่ใช่อำนาจหน้าที่โดยตรงก็น้อมรับนำไปพิจารณาตามความเหมาะสม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสิทธิประโยชน์และเพิ่มคุณภาพชีวิตรวมทั้งปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นการตอบสนองทั้งผู้ให้และผู้รับบริการอย่างสอดคล้องโดยเฉพาะกลุ่มคนไร้สถานะและด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงระบบ สปสช.ได้เท่าเทียมกัน