วันนี้ (11 มิ.ย.62 ) นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ นายกฤษฎา แก้วสองเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมเพื่อสังคม การมอบกล้าพันธุ์ไม้ จำนวน 50,000 ต้น และร่วมปลูกต้นไม้ ที่อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน คณะกรรมการปราชญ์ชาวบ้าน และคณะทำงานไตรภาคีจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมงานกว่า 150 คน นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กิจกรรมเพื่อสังคม การมอบกล้าพันธุ์ไม้ ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในกิจกรรมรักษาเครือข่ายโดยผ่านคณะทำงานไตรภาคี ในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกับภาคประชาชนในจังหวัดบุรีรัมย์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้มอบกล้าพันธุ์ไม้ไปแล้ว จำนวนรวม 250,000 ต้น และในปี 2562 นี้ ได้มอบอีก 50,000 ต้น รวมทั้งสิ้น 300,000 ต้น กิจกรรมเพื่อสังคมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของผืนป่าจังหวัดบุรีรัมย์ ส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยภาคประชาชนจังหวัดบุรีรัมย์โดยเฉพาะคณะกรรมการปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้การนำของนายคำเดื่อง ภาษี ประธานเครือข่ายปราชญ์ ได้มีส่วนร่วมกับโครงการในทุกขั้นตอนตามทิศทางการพัฒนาที่สำคัญของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างภาคราชการและภาคประชาชน เพื่อพัฒนาชีวิตและสังคมอย่างยั่งยืน และสร้างเมืองบุรีรัมย์ให้เป็นเมืองน่าอยู่ สำหรับในปี 2562 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้สนับสนุนกล้าพันธุ์ไม้ จำนวน 50,000 ต้น ประกอบด้วย กล้าพันธุ์ต้นประดู่ 15,000 ต้น ไม้แดง 15,000 ต้น ยางนา 10,000 ต้น พะยูง 5,000 ต้น ตะเคียนทอง และกันเกรา 5,000 ต้น ซึ่งประเภทกล้าพันธุ์ไม้เหล่านี้ภาคประชาชนที่เชี่ยวชาญการปลูกต้นไม้ได้คัดเลือกขึ้นเนื่องจากเหมาะกับสภาพดิน สภาพภูมิอากาศของบุรีรัมย์ และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า กล้าพันธุ์ไม้ทั้งหมดนี้ได้มอบให้กับเครือข่าย ภาคประชาชน จำนวน 30 เครือข่าย รวมถึงมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยราชการต่าง ๆ ตลอดจนวัดและโรงเรียนจากทุกอำเภอ บางพื้นที่ปลูกเป็นผืนป่าขนาดใหญ่บนที่ดินสาธารณะ บางส่วนนำไปปลูกในพื้นที่การเกษตรในลักษณะปลูกรวมกับพืชผักต่าง ๆ ซึ่งนอกจากสร้างความสมบูรณ์ในด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติแล้ว ยังมีส่วนเสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอีกทางหนึ่งด้วย