ถูกยกให้เป็น “ม็อบ” ขนาดมหึมาที่สุดในประวัติศาสตร์นับแต่ “ฮ่องกง” คืนสู่ “จีน แผ่นดินใหญ่ “ หลัง “อังกฤษ” ส่งมอบให้ตั้งแต่ปี 2540 กันเลยทีเดียว สำหรับ การชุมนุมประท้วงบนเกาะฮ่องกง เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมชูป้ายประท้วงร่างปรับแก้กฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของทางการฮ่องกง ด้วยปริมาณของจำนวนผู้ชุมนุม ที่เดินขบวนไปตามท้องถนนสายต่างๆ หลังจากนั้นก็มา “นั่งลง (Sit – in)” ตามยุทธวิธีทางยุทธศาสตร์ของการจัดขบวนม็อบ ณ บริเวณใกล้กับอาคาร “สภานิติบัญญัติ” ของ “เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน” หรือ “เอสเออาร์ (SAR : Special Administrative Region)” หรือที่เรียกันสั้นๆ ว่า “ซาร์” ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะลามทะลักล้น ไปในย่านอื่นๆ ที่อยู่รายรอบ จนทำให้การสัญจรด้วยยานพาหนะทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถโดยสารทางถนน ตลอดจนรถไฟฟ้าใต้ดิน ต้องกลายสภาพเป็น “อัมพาต” ไปโดยฉับพลัน ซึ่งตามการเปิดเผยแบบคุยโวโอ่อยู่ในทีของคณะผู้จัดการชุมนุม ระบุว่า ผู้ชุมนุมประท้วงมีจำนวนมากถึงราว 1 ล้านคน ด้วยกัน อันเป็นจำนวนที่มากเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงในครั้งที่เรียกว่า “ปฏิวัติร่ม (Umbrella Revolution)” เมื่อปี 2557 หรือ 5 ปีที่แล้ว เสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี ทางการฮ่องกง โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งดูแลเรื่องการรักษาความปลอดภัยและควบคุมสถานการณ์ของการชุมนุม ได้ระบุว่า จำนวนม็อบน่าจะมีเพียง 2.4 แสนคนเท่านั้น ขณะที่ เมื่ออ้างถึงการประเมินของบรรดาสถานทูต และสถานกงสุลของชาติต่างๆ ที่จับตาสถานการณ์ม็อบ ก็ระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมน่าจะมีจำนวนราว 5 แสนคนด้วยกัน ที่มาร่วมประท้วง พร้อมกันนั้น บรรดาสถานทูตและสถานกงสุลของชาติต่างๆ ทั้งหลาย ก็มีแถลงคำเตือนพลเมืองชาติตน ให้อยู่ห่างๆ หลีกเลียงที่จะเข้าไปใกล้กับสถานชุมนุมเพื่อความปลอดภัย ว่ากันถึงเหตุผลของการชุมนุมนประท้วงนัดประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ก็เพื่อคัดค้าน “ร่างปรับแก้กฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฮ่องกง” ซึ่งร่างกฎหมายข้างต้น ก็จะเป็นการเปิดไฟเขียวให้ทางการฮ่องกง สามารถส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปให้จีนแผ่นดินใหญ่ได้ ทำให้ชาวฮ่องกงจำนวนหนึ่ง หวั่นเกรงว่า รัฐบาลปักกิ่ง ทางการจีนแผ่นดินใหญ่อาจใช้เป็นโอกาสช่องทางในอันที่จะจัดการกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวประชาธิไตย และสิทธิมนุษยชน รวมทั้งฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ที่หลบหนี และพำนักอาศัยในเกาะฮ่องกง จนต้องจัดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่อย่างที่เห็น ทั้งนี้ การชุมนุมประท้วงข้างต้น ก็มีปะทะกันประปราย หลังหมดเขตเวลาการชุมนุมที่ทางฝ่ายจัดการฯ กำหนดไว้ที่ 24.00 น. หรือเที่ยงคืนของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งดื้อแพ่ง ไม่ยอมออกจากสถานชุมนุม แถมยังล้มตัวลงนอน เพื่อขัดขวางเจ้าหน้าที่กันเลยก็มี การปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจของฮ่องกง ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังวุ่นวาย ปรากฏว่า ทาง “นางแคร์รี หล่ำ” ซึ่งดำรงตำแหน่ง “ผู้ว่าเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน” ก็ได้ออกมาแถลงชี้แจงถึงเหตุผลในความจำเป็นของร่างปรับแก้กฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ที่ทาง “สภานิติบัญญัติของเอสเออาร์” จะประชุมพิจารณลงมติในวันพุธที่ 12 มิ.ย.นี้ว่า เพื่อช่วยอุดช่องโหว่ ปิดช่องว่างทางกฎหมาย ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงเพื่อป้องกันเกาะฮ่องกงแห่งนี้ มิให้เป็น “สวรรค์ของอาชญากรข้ามชาติ” อีกต่อไป นั่นเอง นางแคร์รี หล่ำ ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมกันนั้น “ผู้ว่าฯ หล่ำ” ก็เรียกร้องให้ชาวฮ่องกงเห็นถึงความจำเป็นของร่างปรับแก้กฎหมายดังกล่าว เพื่อยุติการชุมนุมประท้วง อันจะส่งผลให้การสมานฉันท์ตามแนวนโยบาย “พวกเราเชื่อมต่อถึงกัน” ที่เธอได้ให้คำมั่นไว้เมื่อ 2 ปีก่อน สำหรับการแก้ไขเยียวยาความแตกแยกทางความคิดเห็นของประชาชนจาก “ม็อบปฏิวัติร่ม” อาจไม่สัมฤทธิ์ผล ขณะที่ ปฏิกิริยาของบรรดาสื่อมวลชนในจีนแผ่นดินใหญ่ต่อการชุมนุมประท้วง ซึ่งนอกจากออกมา ตำหนิม็อบในฮ่องกงแล้ว ก็ยังติเตียนพาดพิงไปถึงต่างชาติที่ให้การสนับสนุนต่อการจัดชุมนุมประท้วงที่มีขึ้นด้วย โดยถึงขนาดระบุว่า เป็น “กองกำลังต่างชาติ” ที่ใช้ “ฮ่องกง” มาสร้างความหายนะต่อ “จีนแผ่นดินใหญ่” นอกเหนือจากสร้างความขัดแย้ง แตกแยกในฮ่องกงแล้ว ก็ยังเซาะบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลฮ่องกงด้วย อย่างไรก็ดี บรรดาสื่อมวลชนในจีนแผ่นดินใหญ่ มิได้เอ่ยถึงชื่อประเทศว่า ชาติใดที่เป็น “กองกำลังต่างชาติ” ตามที่พวกเขาตำหนิติเตียน แต่เหลานักวิเคราะห์ ก็ชี้นิ้วไปที่ “สหรัฐอเมริกา” และ “แคนาดา” ที่กำลังขัดแย้งในสงครามการค้าที่พวกเขาประจันหน้ากัน โดยในส่วนของสหรัฐฯ นั้น แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะกำลังขับเคี่ยวในศึกการค้ากันอย่างดุเดือด ส่วนแคนาดา ก็มีกรณีของการจับกุม “นางเมิ่ง หว่านโจว” ซีเอฟโอของหัวเว่ย จนจีนตอบโต้ด้วยการจับกุมพลเมืองของงแคนาดาในจีน เป็นการเอาคืน ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ คือ ทั้งสหรัฐฯ และแคนาดา ก็ได้มีการจัดชุมนุมประท้วง เพื่อต่อต้านร่างปรับแก้กฎหมายข้างต้น ล้อไปกับสถานการณ์ในฮ่องกง นอกจากนี้ ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ทางการแคนาดา ก็แสดงทรรศนะติงเตือนร่างปรับแก้กฎหมายดังกล่าวของฮ่องกงมาครั้งหนึ่งแล้ว ชาวฮ่องกงในแคนาดา ชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานกงสุลจีนในนครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ทว่า แม้เหล่าผู้ชุมนุมจะมีกลุ่มผู้สนับสนุนจากต่างชาติกันเยี่ยงนี้ แต่บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ม็อบเรือนแสนก็คงไม่สามารถยับยั้งร่างปรับแก้กฎหมายข้างต้น ซึ่งจะมีการประชุมพิจารณาของสภานิติบัญญัติฮ่องกง ในวันพุธที่ 12 มิ.ย. นี้ได้ ด้วยพลังมังกรผงาดฟ้าที่เหนือกว่ากันหลายขุม