บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เพิ่งได้รับการจัดหมวดหมู่ใหม่ เป็น 1 ใน 3 แหล่งน้ำขนาดใหญ่ร่วมกับหนองหาร จ.สกลนคร และอ่างเก็บน้ำแม่จาง จ.ลำปาง ทำให้แหล่งน้ำขนาดใหญ่ของประเทศไทยที่เดิมกำหนดไว้ 35 แห่ง ขยับขึ้นเป็น 38 แห่ง ด้วยความจุที่เกินกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ท่ามกลางนั้น บึงบอระเพ็ดก็มีปัญหามากมาย ทั้งการบุกรุกบึง ตะกอนดินสะสมในบึง การบริหารจัดการน้ำที่ด้อยประสิทธิภาพ ฯลฯ ภายใต้กฏหมายที่หลากหลายในพื้นที่เดียวกัน เช่นเดียวกับ บึงราชนก จ.พิษณุโลก แทนที่จะใช้เพื่อบริหารจัดการน้ำ รองรับน้ำหลาก และช่วยหน่วงระบายน้ำ กลับกลายเป็นแหล่งจับจองทั้งผืนดินและผืนน้ำจากส่วนราชการต่างๆ โดยปราศจากทิศทางและแผนแม่หลักการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ถูกมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจากนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เข้าไปศึกษาสภาพปัญหาทั้งสองบึงพร้อมๆ กัน จนสามารถขึ้นรูปเป็นแผนหลักฟื้นฟูและพัฒนา โดยเสนอคณะรัฐมนตรีและได้รับความเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา เห็นชอบแผนพลักฟื้นฟูบึงราชนก 4 ด้าน ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (พ.ศ.2563-2569) วงเงินรวม 1,456.98 ล้านบาท โดยเร่งดำเนินการแผนงานเร่งด่วนที่มีความพร้อม 11 โครงการไปก่อน เช่น แก้ไขปัญหาการบุกรุกครอบครอง และทำประโยชน์ในพื้นที่บึง ขุดลอกพื้นที่บึงบางส่วน เห็นชอบแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด 6 ด้าน ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (พ.ศ.2563-2572) วงเงินรวม 5,701.50 ล้านบาท โดยให้เร่งรัดแผนงานเร่งด่วนที่มีความพร้อม 9 โครงการไปก่อน เช่น การตรวจสอบการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชนในเขตพื้นที่บึงในพื้นที่ “ให้-หวง-ห้าม” การขุดลอกคลอง ตะกอนดิน ทั้งนี้ มอบหมายให้ สทนช. อำนวยการและกำกับดูแลการดำเนินงาน และให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 อย่างเคร่งครัด ตามแผนงานหลักดังกล่าว ในส่วนของบึงราชนกจะมีการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรในดินอย่างเหมาะสม เพิ่มพื้นที่แหล่งน้ำจากเดิม 858.18 ไร่ เป็น 3,714 ไร่เศษ มีปริมาณน้ำเก็บกักจากเดิมไม่ถึง 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 28.85 ล้านลูกบาศก์เมตร บรรเทาพื้นที่อุทกภัย อ.วังทอง 10,575 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์ 3,960 ไร่ 22,370 ครัวเรือน ส่วนบึงบอระเพ็ด จะเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 67 ล้านลูกบาศก์เมตร จากการเพิ่มระดับเก็บกัก 1 เมตร จาก 24 เมตรเป็น 25 เมตร เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 21,000 ไร่ พร้อมเก็บน้ำอุปโภคบริโภค และประชาชนได้รับประโยชน์ 500 ครัวเรือน วัชพืชถูกกำจัดปีละ 100,000 ตัน และจัดการขยะได้อย่างน้อยวันละ 14 ตัน การใช้ทรัพยากรโดยมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ป่าต้นน้ำในพื้นที่ได้รับการอนุรักษ์ แผนพัฒนาและฟื้นฟูบึง ได้มีการจัดทำแผนหลักนับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่สามารถเดินหน้าได้ ต่างคนต่างทำ ใครมีกำลังมากกว่าก็ทำได้ทันที ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบางส่วนมีอำนาจ แต่ไม่มีศักยภาพ ก็ถูกกันออกจากการพัฒนาและฟื้นฟูโดยปริยาย ประโยชน์ต่อการพัฒนาจึงไม่ทั่วถึง และไม่แก้ปัญหาทั้งระบบ “เป็นแผนงานที่ร่วมกันคิดผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ มีการกำหนดเจ้าภาพในแต่ละรายการภายใต้เป้าหมายเดียวกันตามกรอบเวลาที่เหมาะสม และทำแบบเป็นลำดับขั้นตอน เป็นการจัดระเบียบการทำงานใหม่ มีแผนงานโครงการพร้อมทั้งกรอบงบประมาณ เป็นแนวทางที่ สทนช. ใช้ขับเคลื่อน เพื่อให้บรรลุผลจริงจัง” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. สรุปทิ้งท้าย เป็นคุณูปการจาก 3 เสาหลักแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศ เริ่มต้นจากแผนยุทธศาสตร์น้ำ หน่วยงานกำกับน้ำคือ สทนช. และ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ที่เพิ่งมีผลต้นปี 2562 นี่เอง เท่ากับ เป็นการขับเคลื่อนทรัพยากรน้ำอย่างมีทิศทางและรวดเร็ว ท่ามกลางความผันแปรของสภาพภูมิอากาศอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน