สภาเกษตรกรแห่งชาติ นำร่อง 20 ไร่ 4 จังหวัด ปลูกกัญชาอินทรีย์ ส่งกรมการแพทย์แผนไทย ยันไม่อนุญาตปลูกเชิงพาณิชย์ ระวังถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.62 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมหารือร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งตัวแทนจากโรงพยาบาลทั้ง 4 ภูมิภาค จนนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงกับทางกรมการแพทย์แผนไทย โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติจะปลูกกัญชาแบบเกษตรอินทรีย์เท่านั้นส่งให้กับกรมการแพทย์แผนไทย เพราะทำอาหารต้องปลอดภัยมาก ทำเป็นยายิ่งต้องปลอดภัยมากยิ่งกว่า จึงเสนอการปลูกกัญชาแบบเกษตรอินทรีย์แบบลงทุนให้ฟรีเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแท้จริง นำร่อง 4 จังหวัด คือ ลำปาง บุรีรัมย์ กาญจนบุรี และสุราษฎร์ธานี ด้วยพื้นที่ 2 X 2 เมตร 400 ต้น/ไร่ จังหวัดละ 5 ไร่ ปลูกทั้งแบบในโรงเรือนและนอกโรงเรือนซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบ วิเคราะห์ทุกขั้นตอน ส่วนที่เลือก 4 จังหวัดนำร่องดังที่กล่าว เพราะมีตัวแทนเกษตรกรที่อาสาสมัครเข้ามาและมีความพร้อม พร้อมทั้งในแง่ของหัวใจ ทุนทรัพย์ ด้วยการปลูกนำร่องนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นใดให้เลย ทุกคนต้องลงทุนควักกระเป๋าเอง อย่างน้อยที่สุดคนละ 1 ล้านบาท ลงทุนฟรีให้กับราชการจะได้เงินหรือไม่ได้เงินคืนมาไม่ทราบได้ ที่อาสาปลูกเพราะต้องการความรู้และความสำเร็จเพื่อประกาศให้คนไทยทั้งประเทศรู้ว่าเกษตรกรก็สามารถปลูกได้ ได้ผลผลิตดีและมีคุณภาพไม่ต้องพึ่งต่างชาติมากเกินไปเหมือนเช่นปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ตาม จากการที่สภาเกษตรกรแห่งชาติได้จัดเวทีโครงการ “ประชุมสัมมนาขับเคลื่อนการพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” 6 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง สกลนคร นครศรีธรรมราช อุทัยธานี ตรัง กระบี่ มีผู้สนใจเข้าร่วมงาน 3,238 คน และจากการสำรวจออนไลน์เรื่องความสนใจการใช้กัญชาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม-24 พฤษภาคม 2562 มีผู้สนใจทำแบบสอบถามจำนวนทั้งสิ้น 6,195 คน ประกอบอาชีพ เกษตรกร ร้อยละ 72.95% อาชีพอิสระ ร้อยละ 8.58% ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 6.45% รับราชการ 4.57% พนักงานเอกชน ร้อยละ 2.89% เป็นต้น โดยสนใจใช้เพื่อรักษาโรค เหตุผล รักษาตนเอง 3,449 คน คิดเป็นร้อยละ 55.7% , รักษาคนในครอบครัว/คนรู้จัก 2,488 คน คิดเป็นร้อยละ 40.2% , เพื่อความรู้ 2,988 คน คิดเป็นร้อยละ 48.2% และสนใจปลูกกัญชา 3,624 คน คิดเป็นร้อยละ 58.5% “ขณะนี้การปลูกกัญชาในเชิงพาณิชย์ยังไม่อนุญาต หากเกษตรกรปลูกไปก่อนก็ขายไม่ได้และอาจจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย สภาเกษตรกรฯจึงขอเริ่มต้นจากพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน ปลูกในเชิงการวิจัยและต้องสละทั้งเงิน เวลา บุคลากรที่จะต้องทุ่มเทให้สำเร็จให้ได้ เพราะฉะนั้นขอให้อดใจรอจนกว่าสังคมจะเปิดกว้างกว่านี้ กฎหมายผ่อนปรนมากกว่านี้ ขอให้สภาเกษตรกรฯกรุยทางให้เดินก่อนแล้วเกษตรกรค่อยเดินตามหลังมา อดใจรอ 4 จังหวัดนำร่องปลูกไปก่อน และหากเป็นไปได้ก็อยากผลักดันกฎหมายให้ขยายผลการปลูกออกไปได้ทุกพื้นที่จังหวัดในอนาคต”นายประพัฒน์ กล่าว