ยังคงเป็น “สงครามการค้า” ที่คู่ปรปักษ์ต่างเปิดศึกกันอย่างยืดเยื้อ อย่างมิรู้ว่า การสัประยุทธ์ระหว่างกันจะจบสิ้นลงในวันไหน สำหรับ “ศึกการค้าโลก” ในคู่ของ “สหรัฐอเมริกา” กับ “จีนแผ่นดินใหญ่” ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เริ่มประเดิม “ประดาบก็เลือดเดือด” กันมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้ว ก่อนโรมรันพันตูกันอยู่เป็นระยะๆ ด้วยกระบวนท่วงท่าโจมตีต่างๆ ต่อเนื่องมากระทั่งถึง ณ ชั่วโมงนี้ จากสินค้า “ของกิน ของใช้” ชนิดต่างๆ ทั่วไป ถึงสมรภูมิด้าน “เทคโนโลยี” ที่ตะลุมบอน รอนราญ ผ่านมาตรการกำแพงภาษี กันจนฝุ่นตลบ คิดเป็นมูลค่าตัวเงินรวมแล้วหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ชนิดกระเป๋าฉีกไปตามๆ กัน ทว่า ทั้งสองฝ่ายก็ยังหาได้รามือ หันมาเจรจาเพื่อยุติศึกกันด้วยดีไม่ แต่กลับเพิ่มขยายสังเวียนสู้รบไปสู่ “สมรภูมิเทคโนโลยี” ที่ต้องบอกว่า ถล่มโจมตีกันอย่างดุเดือดปานๆ กัน สินค้าของสหรัฐฯ ที่ส่งออกไปจำหน่ายในจีนแผ่นดินใหญ่ ถึงขนาดที่ว่า ทางการแต่ละฝ่าย ตะครุบจับกุมตัวบุคคลสำคัญของฝ่ายตรงข้ามกันก็มี อย่างกรณีการจับกุม “นางเมิ่ง หว่านโจว ซีเอฟโอ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของหัวเว่ย” โดยทางการแคนาดา ชาติพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ จนเป็นที่อึงอื้อระบือโลก เป็นอาทิ หรือการขึ้น “บัญชีดำ” เพื่อบีบให้บรรดาบริษัทของสหรัฐฯ ไม่ร่วมสังฆกรรม ทำธุรกิจร่วมกับของอีกฝ่าย อย่างในรายของ “กูเกิล” กับ “หัวเว่ย” จนเป็นที่กระฉ่อนกันไปก่อนหน้า ภาพตกแต่งที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนแผ่นดินใหญ่ ลุกลามสู่ภาคเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม กระทั่ง ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ ประเทศต้นสังกัดของ “หัวเว่ย” ก็ร่ำๆ ถึงแผนการที่กำลังพิจารณาว่า จะไม่ขาย หรือส่งออก “สินแร่หายาก” หรือ “แร่ธาตุหายาก” หรือที่เรียกว่า “แรร์ เอิร์ธ (Rare Earth)” ให้แก่สหรัฐฯ ก็ส่งผลให้ทางการวอชิงตัน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ออกอาการนั่งอยู่ไม่ติด นิ่งอยู่ไม่ได้ ไปเหมือนกัน ทั้งนี้ เพราะ “แร่ธาตุหายาก” ที่ทางการปักกิ่ง เอ่ยอ้างว่า จะไม่ส่งออกมาให้นั้น ก็เป็นวัตถุดิบสำคัญ สำหรับการผลิตสารกึ่งตัวนำ หรือเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ที่ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีชั้นสูงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่อัจฉริยะ หรือสมาร์ทโฟน ตลอดจนแบตเตอรีในรถยนต์ระบบไฮบริด โดยถ้าหากรัฐบาลปักกิ่ง ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ ใช้ “สินแร่หายาก” เป็น “อาวุธเด็ด” เพื่อการตอบโต้ ด้วยการไม่ส่งออกมาขายให้แก่สหรัฐฯ จริง แบบไม่ได้ขู่กันเฉยๆ ก็ต้องบอกว่า ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตสินค้าประเภทเทคโนโลยีชั้นสูงของสหรัฐอเมริกาหาน้อยไม่ เมื่อว่ากันถึงบรรยายกาศภายในแดนมังกร จีนแผ่นดินใหญ่ ก็ต้องถือว่า มีความเป็นไปได้ไม่น้อยทีเดียวเชียว ที่รัฐบาลปักกิ่ง จะใช้ “สินแร่หายาก” เป็น “อาวุธมหาประลัย” ในการตอบโต้ต่อสหรัฐฯ มิใช่เพียงแค่เป็น “คำขู่” เท่านั้น โดยเหล่านักวิเคราะห์ได้สังเกตจาก “ถ้อยคำ” ที่ใช้ตามสื่อฯ ต่างๆ ในจีน เช่น “พีเพิลเดลี (People's Daily” หนังสือพิมพ์กระบอกเสียงของรัฐบาลปักกิ่ง ที่ถึงขนาดใช้คำว่า “อย่าหาว่าไม่เตือน” ในการเขียนบทความเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งถ้อยคำในลักษณะนี้ บรรดาสื่อมวลชนในจีนแผ่นดินใหญ่ เคยใช้มาแล้ว เมื่อช่วงการผชิญหน้าในความขัดแย้งระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับเวียดนาม จนส่งผลให้ “สงครามจีน-เวียดนาม” ระเบิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 การทำเหมืองสินแร่หายากในจีนแผ่นดินใหญ่ เหล่าผู้สันทัดกรณีล้วนชี้ว่า น่าเสียวไส้ให้มิใช่น้อย สำหรับท่าทีของทางฝ่ายจีนแผ่นดินใหญ่ อย่างไรก็ดี เมื่อว่ากันในส่วนของทางฟากสหรัฐฯ ก็มีรายงานว่า เตรียมการที่จะหาแหล่งจำหน่ายสินแร่หายากรายใหม่ แทนที่จีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น และภูมิภาคยุโรป รวมถึงทวีปแอฟริกา มีรายงานว่า ทางการวอชิงตัน โดยกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยกระทรวงกลาโหม หรือเพนตากอน ได้วิ่งหาแหล่งสินแร่หายากรายใหม่กันจ้าละหวั่น เบื้องต้นรายงานข่าวระบุว่า ทางเพนตากอน และกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้เริ่มการเจรจากับมาลาวี และบุรุนดี สองประเทศผู้มีแร่ธาตุหายากในทวีปแอฟริกา เพื่อติดต่อขอซื้อสินแร่หายากเหล่านี้ จากทั้งสองประเทศ ทดแทนจีนแผ่นดินใหญ่ หากทางการปักกิ่งใช้สินแร่ดังกล่าวเป็นอาวุธมหาประลัยตอบโต้ทางการค้า อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะด้วยความวิตกกังวลแทนสหรัฐฯ ว่า แหล่งจำหน่ายสินแร่หายากแห่งใหม่ จะสามารถทดแทนตลาดจำหน่ายเจ้าเดิมอย่างจีนแผ่นดินใหญ่ ได้หรือไม่นั้น คงต้องติดตามกันต่อไป เพราะเมื่อเปรียบเทียบในเชิงปริมาณแล้ว ต้องบอกว่า ยังห่างกันไกล โดยจีนแผ่นดินใหญ่นั้น เป็น “เจ้าใหญ่” หรือ “เบอร์หนึ่ง” ของการส่งออกสินค้าชนิดนี้ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากถึงร้อยละ 80 ของโลก และในจำนวนนี้ ก็จำหน่ายให้สหรัฐฯ ถึงร้อยละ 50 ด้วยกัน ธุรกิจเหมืองสินแร่หายากในประเทศมาลาวี กล่าวถึงในส่วนของผลกระทบจากสงครามการค้า ที่สหรัฐฯ กำลังสัประยุทธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ อย่างฝุ่นตลบ ณ เวลานี้ ทาง “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” หรือ “ไอเอ็มเอฟ” ก็ได้ออกมาส่งซิกสะกิดเตือนว่า จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกไม่น้อยเลยทีเดียวเชียว โดยระบุว่า อาจฉุด “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก” หรือ “จีดีพีโลก” ในปีหน้าให้ขยายตัวลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6.3 ไปอยู่ที่ร้อยะ 6.2 หรือคิดเป็นมูลค่าตัวเงินก็ราวๆ 4.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็เป็นได้