วันนี้ (7 มิถุนายน 2562) นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) มาใช้กับผู้กระทำผิดว่า กรมคุมประพฤติได้ดำเนินการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 จำนวนทั้งสิ้น 1,876 ราย แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 1,782 ราย เพศหญิง จำนวน 94 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ถูกคุมความประพฤติในฐานความผิดพ.ร.บ.จราจรทางบก จำนวนกว่า 1,255 ราย และมีผู้ถูกคุมความประพฤติถอดอุปกรณ์ EM แล้ว จำนวน 1,543 ราย อยู่ระหว่างการติดอุปกรณ์ EM จำนวน 333 ราย โดยผู้ถูกคุมความประพฤติส่วนใหญ่ปฏิบัติตามเงื่อนไข มีเพียงร้อยละ 1.29 ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ทั้งนี้ กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข เพื่อการสร้างความมั่นใจแก่สังคมในระบบงานคุมประพฤติ อันเป็นหลักประกันความปลอดภัยของสังคม ดังกรณีตัวอย่างที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเพชรบูรณ์ สาขาหล่มสัก ที่ผู้ถูกคุมความประพฤติในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุรา ซึ่งศาลมีคำสั่งใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ห้ามออกจากที่พักอาศัยตั้งแต่เวลา 19.00 – 05.00 น. เป็นระยะเวลา 15 วัน ได้พยายามทำลายอุปกรณ์ EM ดังกล่าว เมื่อศูนย์ควบคุมการติดตามตัวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้รับสัญญาณแจ้งเตือนจากอุปกรณ์ จึงติดต่อพนักงาน คุมประพฤติลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที ซึ่งพบว่า ผู้ถูกคุมความประพฤติมีการฝ่าฝืนเงื่อนไขจริง จึงได้รายงานพฤติการณ์ดังกล่าวต่อศาล โดยศาลพิเคราะห์และเห็นว่า ผู้ถูกคุมความประพฤติจงใจไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลและเงื่อนไขการคุมความประพฤติ จึงให้ยกเลิกเงื่อนไขการคุมความประพฤติ และนำโทษจำคุก 1 เดือนที่รอการลงโทษไว้มาบังคับใช้ โดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง มีกำหนด 1 เดือน ทั้งนี้ การนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) มาใช้กับผู้กระทำผิด เป็นการปรับกระบวนการทำงานให้มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยนำแนวคิดแบบ “Smart Probation” ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการส่งเสริมคนดีกลับสู่สังคม