ชู“สะเอียบโมเดล”แก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม-ฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม สร้าง 4 โครงการอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาย่อยแม่น้ำยมแทนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เปิดทางคนพื้นที่ร่วมสานความเข้าใจรัฐ-ชาวบ้าน จากการประสานงานของมหาวิทยาลัยนเรศวร สามารถที่จะลดความขัดแย้งจนนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชน ทำให้เกิด “สะเอียบโมเดล”ที่เป็นการร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำ ตามความต้องการของชาวตำบลสะเอียบเสนอให้มุ่งไปในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำยมแทนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เบื้องต้นชาวบ้านได้สำรวจและระบุพื้นที่ที่ต้องการให้สร้างไว้แล้ว 4 จุดคือ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโป่ง โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เต้นตอนบน และโครงการอ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2 โดยเบื้องต้นได้ทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและความเหมาะสมโครงการอ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2 และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำยมตอนบน ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)คือ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2 และอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า ใน จ.แพร่ ในส่วนของพื้นที่ตอนล่างได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำยม เพื่อกักน้ำในลำน้ำยมไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง รวมถึงการขยายผลบางระกำโมเดล สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องกระจายไปทั้งลุ่มน้ำ โดยทั้ง2 โครงการที่กำลังศึกษาใน จ.แพร่ มีระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.61-11ส.ค.62 ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมในปี 2559 กรมชลประทานดำเนินการพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กที่เป็นความต้องการของประชาชนที่ต้องการอ่างเก็บน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และป้องกันอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งได้ลงพื้นที่ตำบลสะเอียบ ร่วมเสวนาในประเด็น“พัฒนาการความสัมพันธ์ของกรมชลประทาน กับคนสะเอียบ” โครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2 และอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ พร้อมกับนายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ สำหรับในการเสวนาเป็นการพูดคุยและรับฟังความเห็นระหว่างชาวบ้านในพื้นที่และกรมชลประทาน เพื่อหาแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำร่วมกัน โดยชาวตำบลสะเอียบมีความต้องการด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งควรดำเนินการตามลุ่มน้ำสาขา จึงเสนอให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำจำนวน 4 โครงการคือ อ่างเก็บน้ำห้วยโป่ง อ่างเก็บน้ำห้วยเป้า อ่างเก็บน้ำห้วยแม่เต้นตอนบน และอ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2 ซึ่งเป็นที่มาการจ้างศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2 และโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำห้วยเป้า โดยทั้ง 2 อ่าง อยู่ในพื้นที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ และเป็นโครงการที่ราษฎร เป็นผู้จัดลำดับความสำคัญมา มีระยะเวลาดําเนินการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม 300 วัน เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.61-11ส.ค.62 ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการ คือ เป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตร และการอุปโภค บริโภคของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมักจะขาดแคลนน้ำ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ได้มีโอกาสมาในเรื่องของการศึกษาเนื่องจากเราใช้สะเอียบโมเดล คือที่ผ่านมานี่ห่างเหินกระบวนการมีส่วนร่วมแต่วันนี้จากการที่พี่น้องชาวสะเอียบได้ขับเคลื่อนทำให้ทุกภาคส่วนเสียงส่วนน้อยส่วนใหญ่จะต้องพูดคุยกันและรับฟังในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำเพราะว่าทุกพื้นที่น้ำเป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกันพี่น้องชาวสะเอียบก็มีพื้นที่ทำการเกษตรทำไร่ทำสวนทำพื้นที่ทางการเกษตรมากมายชุมชนที่อยู่ที่นี่มีโรงเรียน มีวัด มีบ้านเรือนเกือบๆจะ 4 ร้อยครัวเรือนทุกคนต้องการน้ำวันนี้เรามาศึกษา นายสมมิ่ง เหมืองร้อง สารวัตรกำนัน ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า ในอดีตถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้นำการคัดค้านการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ ต.สะเอียบ จนมองว่าเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานเป็นศัตรู จนถึงขั้นไม่ยอมให้เข้าพื้นที่ แต่หลังจากมหาวิทยาลัยนเรศวรเข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานจนเกิดความเข้าใจแล้ว ชาวตำบลสะเอียบ ยินดีให้ความร่วมมือ เพราะชาวบ้านต่างเห็นความสำคัญของการมีแหล่งน้ำ