เป็นไปตามคาด เมื่อผลคะแนนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา 500 : 244 ที่ส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชนะ “ธนาธร จึงรุ่งเรือกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ทั้งนี้ “รศ.ตระกูล มีชัย” รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์กับ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ถึงทิศทางการเมือง และการบริหารประเทศ ของ “รัฐบาลผสม” มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้ -หลังได้ นายกฯ และ ครม. ชุดใหม่ ทิศทางการเมืองจะเดินไปอย่างไร กระบวนการหลังจากนำรายชื่อนายกฯ ขึ้นทูลเกล้า เป็นการเตรียมจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคร่วมรัฐบาล จะมีการหารือและตกลงร่วมกันเกี่ยวกับโควต้ากระทรวง ที่แต่ละพรรคจะได้ เพื่อเป็นการยืนยันอีกครั้งว่า พรรคใดจะได้ตำแหน่งอะไร และสรรหาบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรี ก่อนให้นายกฯ พิจารณาเห็นชอบถึงความเหมาะสม และมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญกำหนด รวมทั้งการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการการเมือง เช่น เลขานุการรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการนำรายชื่อคณะรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อพิจารณาโปรดเกล้าฯ แต่ในระหว่างรอนั้น สิ่งสำคัญรัฐบาลต้องทำ คือ การร่างนโยบาย เพราะระบบ รัฐบาลผสม ที่มีพรรคการเมืองทั้งใหญ่ กลาง และเล็ก ซึ่งได้มีการประกาศต่อสาธารณะว่า เงื่อนไขของการเข้าร่วมรัฐบาล คือนโยบาย เช่น พรรคภูมิใจไทย เสนอนโยบายเรื่องกัญชา พรรคประชาธิปัตย์ เสนอนโยบายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีการพูดคุยกันระหว่างแกนนำของพรรค โดยเมื่อก่อนการร่างนโยบายของรัฐบาล อาจจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการ เช่น สภาพัฒน์ฯ แต่ร่างนโยบายครั้งนี้ มีความแตกต่าง เพราะรัฐธรรมนูญระบุถึง การแถลงนโยบาย ต้องมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และอาจจะกลายเป็นปมปัญหา เพราะพรรคการเมืองหลายพรรคที่ร่วมรัฐบาล อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ เคยมีการแสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ชาติในหลายเรื่อง จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกพรรคร่วมรัฐบาล ต้องหารือเพื่อสรุปผลออกมา ให้เห็นพ้องต้องกัน ซึ่งเรื่องนี้ นายกฯ คงจะฟันธงทุบโต๊ะเองไม่ได้ ทำให้รัฐบาลชุดใหม่ทำงานยากขึ้น เพราะไม่ได้ เป็นนายก ฯและรัฐบาล ที่มาจาก คสช. ภายใต้อำนาจพิเศษ แต่เป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองหลายพรรค ที่มาจากการเลือกตั้ง และมีแนวนโยบายของตัวเอง รวมทั้งเงื่อนเวลากระชั้นชิดต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วัน หากแก้ปัญหาตรงจุดนี้ไม่ได้ รัฐบาลอาจมีรอยร้าวลึกตั้งแต่เริ่มต้นแน่นอน และรัฐบาลต้องเจอศึกหนัก ในการอภิปรายนโยบาย หากพรรคฝ่ายค้านต้องการใช้เวทีของการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อเป็นกลไกสร้างความชอบธรรมทางการเมือง รวมทั้งการคุมเกมสภาฯ ของคุณ ชวน หลีกภัย ค่อนข้างอลุ่มอล่วย ในการให้สมาชิกรัฐสภา เปิดแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ ดังนั้น อาจเกิดปรากฏการณ์การอภิปรายนโยบาย 3 วัน 3 คืนก็เป็นได้ -หลังจากนี้นายกฯ จะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง การต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งเรื่องตำแหน่ง นโยบาย และการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จะทำตัวแบบเดิมไม่ได้ หรือจะทำตัวแบบผู้นำทางการเมืองแบบคุณทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่ได้ เพราะ เขาถือว่าเป็น Super CEO สามารถสั่งลูกน้องได้ ในพรรคการเมืองเดียวกัน แต่ภายใต้ที่มีพรรคการเมืองที่หลากหลาย ช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ของรัฐบาล อาจจะไม่มีปัญหา แต่พ้นจาก การฮันนีมูนจะเป็นเช่นไร พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถคุมอยู่ เหมือนเช่นสมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ ที่ นักการเมืองร่วมรัฐบาล มีปัญหาความขัดแย้งเรื่องนโยบาย เช่น ความขัดแย้งเชิงนโยบาย ระหว่างพรรคกิจสังคม กับพรรคชาติไทย แต่ท่านนิ่งเฉย และใช้สภาพัฒน์ฯเป็นเครื่องรองรับต่อปัญหาในการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลผสมนี้ อาจมีสิทธิเกิดขึ้นได้เช่นกัน ประเด็นต่อมา กองทัพสื่อมวลชน มีการเปลี่ยนท่าที ระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้ คสช.กับพล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ สื่อมวลชนคงจะรุก ป้อนคำถาม ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ยังใช้ท่า แบบเดิมอยู่ ก็จะเป็นปัญหาเกิดขึ้น หรือถูกสื่อมวลชนคอยกระทุ้งถาม จนตบะแตก อาจจะทำให้เสียภาพลักษณ์ได้ และสิ่งที่ต้องเจอตามมาในระยะอันใกล้ คือ การจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่จะต้องเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร อาจจะมีปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะการจัดสรรกรอบวงเงิน การบรรจุแผนงาน โครงการต่างๆ ซึ่งไม่ง่ายเหมือนกับรัฐบาล 5 ปีที่ผ่านมา ที่จะใช้สำนักงบประมาณหรือสภาพัฒน์ฯ หรือข้าราชการ จัดทำงบประมาณ แต่ครั้งนี้มีนักการเมืองร่วมรัฐบาล และต้องรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเอง จนเกิดแรงปะทะขัดแย้งกับข้าราชการประจำได้ นายกฯ รับมือกับปัญหานี้อย่างไร ต่อมา เมื่อร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ จากการทำข้อตกลงแล้ว ต้องเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่ที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งสิ่งที่คุณไพบูลย์ นิติตะวัน หรือสมาชิกคนอื่นบอกว่า ไม่มีปัญหาสามารถผ่านได้ โดยใช้บทเฉพาะกาลเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณา กฎหมาย ที่มีความสำคัญต่อการปฏิรูป แต่ถ้าจะยึดตามหลักพ.ร.บ.งบประมาณฯ และอ้างว่ากฎหมายเหล่านี้มีนัยยะสำคัญ ต่อการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 วรรค 3 และให้วุฒิสภามาร่วมลงมติด้วย เกิดปัญหา และถูกฟ้องร้องว่ารัฐบาลทำผิดรัฐธรรมนูญแน่นอน ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ คือ เสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเป็นขั้นตอน อีกทั้ง โหวตผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ต้องใช้เสียงข้างมากของสมาชิกสภาฯ ที่เข้าร่วมประชุม ไม่ใช่เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ ถือเป็นภาระหนักของรัฐบาล ที่ต้องสร้างวินัย ให้เกิดขึ้นในกลุ่มสมาชิก จากพรรคการเมืองต่างๆ ขาดประชุมไม่ได้ วิปรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของพรรคการเมืองต่างๆ จะต้องแข็งแกร่งมาก จะต้องมีกลไกที่พิเศษ อย่างมาก เพื่อจูงใจ สมาชิกของแต่ละพรรค รวมกำลังกันให้ได้และมาประชุมในวันโหวตเพื่อผ่านร่างดังกล่าว เพราะเชื่อว่า จะมีการอภิปรายที่รุนแรงอย่างแน่นอน โดยช่วงแรกรัฐบาลอาจผ่านไปได้ แต่เป็นการผ่านที่เหงื่อตก เพราะเสียงวาบหวิวต่างกันไม่ถึง 10 เสียง ถึงแม้จะซื้องูเห่ามาได้ แต่สังคมก็จ้องมองอยู่ และมีการตีข่าวเรื่องงูเห่าตลอด แต่ผม ไม่อยากใช้คำว่างูเห่า ขอใช้คำว่า “โสเภณีทางการเมือง” หรือ “กะหรี่ทางการเมือง” ซึ่งเมื่อปี 2512 เรียกกันว่า เป็นคำการเมืองที่กล่าวประณาม ส.ส.ที่สังกัดพรรคการเมือง และไปรับเงินและลงมติ ให้พรรคการเมืองอื่น หรือขายตัวเองออกจากพรรค แต่ปรากฏการณ์นี้ อาจเกิดขึ้นได้ แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่ก็ทำให้คนฉุกคิดว่า เกิดขึ้นจริงหรือไม่ -การประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. เพื่อโหวตเลือกนายกฯ สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง ไม่มีอะไร ส.ว.ก็เป็นปึกแผ่นกันดี เพราะกลุ่มคนเหล่านี้รู้ดีว่าทำอะไรไปก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ในเกมการเมือง ส่วนกลุ่มที่อ้างว่า เป็นกลุ่มพลังประชาธิปไตย และเสนอชื่อคุณธนาธร เป็นนายกฯ ไม่ยอมเสนอชื่อคนจากพรรคเพื่อไทย เชื่อเป็นเกมในการวัดกัน เพราะมองว่าคุณธนาธร เป็นคนที่คนรุ่นใหม่ชอบ เป็นสัญญาณของฝ่ายต่อสู้ที่เป็นประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการมาชนกัน ซึ่งหากเปรียบเหมือนมวย เป็นมวยคนละชั้น แต่เปรียบในเชิงการเมือง คนรุ่นใหม่ 6 ล้านกว่าเสียง ระบุว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มพลังประชาธิปไตย พยายามชูสัญลักษณ์ ของการเป็นประชาธิปไตย ที่มาขัดง้างกับกับฝ่ายเผด็จการ ถ้าถามว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ บอกได้ว่าประสบความสำเร็จ แต่ความสำเร็จไม่ใช่การเป็นนายกฯ แค่ต้องการชูกระแสนี้ให้เห็น ที่สำคัญพรรคอนาคตใหม่ มีนักพูดที่เป็นนักพูดรุ่นใหม่หลายคน เช่น อาจารย์ปิยบุตร คุณโรม คุณช่อ หากมีการเรียนรู้และรู้เทคนิคมากขึ้น เพราะคนเหล่านี้มีขีดความสามารถ ในการปรับตัวสูง และมีความรู้ เชื่อว่าการต่อสู้ในสภาฯ จะรุนแรงมากขึ้น -รัฐบาลผสม ของพปชร. ยังไม่ทันจัดตั้ง ก็ถูกกดดันจากพรรคร่วมอย่างหนัก ปัญหาที่จะเกิดกับรัฐบาลนี้ คือเรื่องนโยบาย นโยบายไม่มีทางไปด้วยกันได้ และสิ่งที่จะร้อนตามมา คือ เงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นกับดักทางการเมืองที่ถูกวางเอาไว้ ซึ่งอ้างว่า เข้าร่วมรัฐบาล เพราะพรรคพลังประชารัฐยอมบรรจุการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไว้ในนโยบาย แต่ในทางปฏิบัติจริง เงื่อนไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องยากมาก แค่หมวดทั่วไปไม่ใช่หมวดภาคบังคับ ในการลงมติทุกวาระ จะต้องมีเสียงของฝ่ายค้าน วุฒิสมาชิก และมีการกำหนดจำนวน รวมทั้งในวาระ 3 จะต้องมีเสียงจากฝ่ายวุฒิสภา 1 ใน 3 เห็นชอบด้วย โดยรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาธิปัตย์อยากให้แก้ เช่น เรื่องระบบการเลือกตั้ง ยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นหมวดอันตรายการแก้จะต้อง ฟังประชามติ หรือแม้รัฐบาลจะเสนอเข้าสู่รัฐสภา หากวุฒิสภา ไม่เห็นชอบ และรัฐบาลอ้างได้ว่า มีการผลักดันแล้ว เมื่อถึงจุดนั้นพรรคฝ่ายค้าน จะจิกไปที่พรรคประชาธิปัตย์ ให้รับผิดชอบ ซึ่งสิ่งเดียวที่ทำได้ คือ การถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล ก็อาจเป็นตัวชนวนก่อให้เกิดวิกฤติเสถียรภาพทางการเมือง กลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย -พล.อ.ประยุทธ์ มีจุดแข็ง อะไรที่จะสามารถอยู่ไปต่อได้ จุดแข็ง คือ มีกองทัพที่แข็งแกร่ง แต่ประเด็นปัญหาอยู่ที่สภาพการเมืองขณะนี้ กองทัพจะเล่นบทเหมือนสมัยกองทัพพล.อ.เปรม ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะเกิดวิกฤติ ทางการเมืองอย่างแน่นอน ถ้ากองทัพแอคชั่นต่อบทบาททางการเมือง ก็จะเข้าทางกลุ่มที่อ้างเป็นพลังประชาธิปไตย ที่กำลังสร้างกระแสเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย ต่อสู้กับระบอบเผด็จการ ลูกตุ้มของความชอบธรรม จะถูกเหวี่ยงกลับมาทางฝ่ายค้าน และก่อให้เกิดความวุ่นวายในเสถียรภาพของรัฐบาล จนอาจจะต้องประกาศลาออก หรือยุบสภา แม้ว่าเลือกยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะมี ส.ว. อยู่โหวตเลือกนายกฯง่ายเหมือนปัจจุบันนี้ เพราะฝ่ายค้าน มีบทเรียนมาแล้ว อะไรที่ผิดพลาดจากการวางหมากเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ก็จะมีการแก้เกมใหม่หมด หากเดินมาถึงจุดนี้ กองทัพ Take Action อย่างไร ยืนรวมตัวกันประกาศเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เท่ากับว่า กองทัพ Off side เข้าไปสู่การเมือง และระบบรัฐสภาที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองตามมาทันที ทางออกในเรื่องนี้ ทหาร จะเข้ามายึดอำนาจ ไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าไม่เกิดวิกฤติการเมืองขั้นรุนแรง การประกาศยึดอำนาจเป็นเรื่องที่ยากขึ้นทุกที หรือใช้พลังในการกดดัน แต่อย่าลืมว่า นักการเมืองที่อ้างตัวเป็นกลุ่มพลังประชาธิปไตย มีบทเรียนทางการเมือง และมีมวลชนสนับสนุนอยู่ เมื่อถึงเวลานั้นต้องกลับมาอีกแน่นอน -สถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้ ถึงขั้นพรรคแตก หรือไม่ จะแตกเหมือนกลุ่ม 10 มกรา หรือกลุ่ม ของคุณวีระ มุสิกพงศ์ คุณสนั่น ขจรประศาสน์ และดร.เอนก หล่าธรรมทัศน์ ที่แยกตัวออกมา ลักษณะการเมืองมีความขัดแย้งกันข้างใน อย่างสูงมากและสาธารณชน รับรู้ด้วย แต่คิดว่ากลุ่มของคุณอภิสิทธิ์ และกลุ่ม New dem คงไม่มีปัญหาถึงขั้นพรรคแตก เพราะคุณชวน ดูแลคุณอภิสิทธิ์ อยู่ และคงไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์ เล่นเกม เวลานี้ประชาธิปัตย์ขนาดนี้ เล่นเกม 2 ขา คือ ขาที่ 1 ร่วมรัฐบาล ถ้าเกิดความล้มเหลว ก็จะถูกกดดันให้ลาออก จากการร่วมรัฐบาล และลาออกจากการมีบทบาททางการเมืองของพรรค พร้อมกับเลือกกลุ่มของคุณอภิสิทธิ์ กลับเข้ามาใหม่ อาจจะเป็นเวลา 1-2 ปี รวมทั้งคุณอภิสิทธิ์ เพียงแค่ลาออกจากการเป็นส.ส. ไม่ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค และ ส.ส. ในซีกของคุณอภิสิทธิ์ ก็ยังเป็น ส.ส. อยู่ ซึ่งมองว่า การลาออกของคุณอภิสิทธิ์ เพื่อต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง เพื่อรอจังหวะในการกลับมา -พรรคเพื่อไทย ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุด แต่ทำไมไม่เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เอง เป็นเกมการเมือง เพราะรู้อยู่แล้ว ว่าไม่มีทางที่จะไปหักด่านได้ เสนอไปก็ไม่มีสัญลักษณ์ในการ ต่อสู้ทางการเมือง เพราะตัวแคนดิเดตนายกฯ ไม่มีใครได้เป็น ส.ส. แม้แต่คนเดียว ก็จะเกิดกระแสว่า ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งคุณธนาธร แม้จะถูกให้ ยุติบทบาท แต่ก็ยังเป็น ส.ส.อยู่ ฉะนั้นการเสนอชื่อคุณธนาธร เป็นแทคติกทางการเมือง เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไรที่จะเสนอ ชื่อคุณหญิงสุดารัตน์ หรือคุณชัชชาติ แต่การเสนอชื่อคุณธนาธร ซึ่งได้ใจกลุ่มรุ่นใหม่ช่วยสนับสนุน ฉะนั้นเป็นแทคติกที่เดินมาถูกทาง -พรรคอนาคตใหม่ ถือเป็นดาวจรัสแสงดวงใหม่บนเส้นทางการเมือง ได้หรือยัง ยัง ต้องรอพิสูจน์ เพราะเด็กใหม่ๆ หลายคน ยังมีประสบการณ์หรือชั้นเชิง การทำงานในสภาฯ ไม่มาก แต่พื้นฐานของการเป็นนักกิจกรรมพรรคการเมือง เช่น อาจารย์ปิยบุตร, คุณโรมและ คุณช่อ คงต้องใช้เวลาในการศึกษาบทเรียน คิดว่าไม่น่าเกิน 6 เดือน รวมทั้งต้องเปลี่ยนเป้าในการพูดเชิงหลักการ อุดมการณ์ มาพูดในเชิงนโยบายมากขึ้น มีความรู้เจาะลึกในเชิงนโยบาย ถ้าพูดแต่เรื่องของเผด็จการ สืบทอดอำนาจ อย่างเดียว จะกลายเป็นแผ่นเสียงตกร่อง คนจะเบื่อ พรรคอนาคตใหม่ถ้าจะเติบโตทางการเมือง ต้องเป็นนักการเมืองแบบพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นฝ่ายค้านและสร้างความชอบธรรมทางการเมือง ถ้าทำได้อย่างนั้นจริง ครั้งหน้าพรรคอนาคตใหม่ อาจกวาดที่นั่ง ส.ส.เขต ในกทม. ได้ทั้งหมด -อยากฝากอะไรถึงรัฐบาลใหม่ สิ่งที่อยากฝาก คือ นายกฯ จะต้องปรับบทบาท บุคลิกภาพ ให้สอดรับกับการเมืองในมิติใหม่ จะเล่นแบบเดิมไม่ได้ อีกทั้งการเป็นรัฐบาลผสม จะเอาแต่ใจตัวเองไม่ได้ จะต้องฟังกัน เอื้อประโยชน์กันทุกฝ่าย Win Win กันทั้งคู่ แต่ไม่ใช่สมบัติผลัดกันชม Win Win บนพื้นฐานประโยชน์สาธารณะ นอกจากนี้รัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ ผู้นำทางทหาร ที่แปรสภาพตัวเองมา อย่าไปคิดว่ากองทัพหนุนหลังตัวเองอยู่ และจะมีเสถียรภาพ อย่าให้กองทัพ ออกมาพูดบ่อย โดยเฉพาะผบ.ทบ. จะออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองมาก เป็นเรื่องไม่ดี จะกลายเป็นจุดอ่อนให้พรรคฝ่ายค้านโจมตีได้ -ถ้าฟันธง รัฐบาลประยุทธ์ที่มาจากการเลือกตั้ง จะอยู่ได้นานแค่ไหน ฟันธงยาวไม่ได้ ขอฟันธงแค่สิ้นปีนี้ หลังการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณฯ คิดว่า น่าจะผ่านไปได้เพราะอยู่ในช่วงข้าวใหม่ปลามัน แต่ปีหน้าต้องดูเงื่อนไขใหม่ คือ การปฏิบัติตามนโยบาย ซึ่งมีความสลับซับซ้อน ผลประโยชน์ ในแต่ละนโยบาย และขึ้นอยู่กับฝ่ายค้านทำงาน กันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งปีหน้ามีโจทย์ให้เล่นเยอะ ถ้าฝ่ายค้านเก่ง มีขีดความสามารถศึกษาข้อมูลมาดี นำเสนอการอภิปรายแบบใหม่ ไม่ตีรวน รัฐบาลจะเหนื่อยแน่ และอาจจะไม่รอดในปีหน้า ตั้งแต่ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ คาดว่าจะเกิดขึ้นภายหลังการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณฯ และรัฐบาลบริหารประเทศในระยะหนึ่ง