ละเลงเลือดอย่างเดือดพล่าน ถึงขนาดทำเอา “สหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็น” มิอาจทนนิ่งเห็นต่อไปได้ ต้องจัดประชุมเป็นวาระฉุกเฉิน ใน “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็นเอสซี” ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์นี้ สำหรับ สถานการณ์ม็อบชุมนุมประท้วง ใน “ซูดาน” ประเทศฟากฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา ซึ่งได้กลายเป็น “ม็อบเลือด” หลังกองทัพใช้กำลังทหาร พร้อมอาวุธสงครามครบมือ แบบปืนจริง ลูกกระสุนจริง ก็ส่งผลให้บรรดาสมาชิกม็อบที่ตกเป็นเหยื่อกระสุน ตายจริง เจ็บจริง กันเกลื่อนถนนทั้งใน “กรุงคาร์ทูม” เมืองหลวง และที่ “นครออมดุรมาน” เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ซึ่งมีเหล่าพลพรรคม็อบไปชุมนุมประท้วงกันมิใช่น้อย ตามรายงานเบื้องต้น ก็ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุม็อบเลือดครั้งนี้ อย่างน้อย 35 ราย ก่อนที่ในเวลาต่อมา ทางกลุ่มฝ่ายค้าน ออกมาเปิดเผยว่า แท้จริงแล้วมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 60 ราย จาก เหตุสลายชุมนุมที่ทหารของกองทัพ ใช้กำลังทหาร พร้อมอาวุธสงครามครบมือ บุกทะลายถึงแคมป์ของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งในกรุงคาร์ทูมและที่เมืองออมดุรมาน ตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นอกจากมีผู้เสียชีวิตแล้ว ก็ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 300 ราย ซึ่งมีรายงานว่า ทหารของกองทัพ ก็ยังไปขับไล่ม็อบผู้บาดเจ็บเหล่านั้น ออกจากโรงพยาบาลที่พวกเขาไปรักษาตัว โดยฉากความรุนแรงที่บังเกิดขึ้น ก็เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่าง “สภาทหารเพื่อการเปลี่ยนผ่าน” หรือ “ทีเอ็มซี” ซึ่งก็คือกองทัพซูดาน นั่นเอง ที่ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การนำของ “พล.ท.อับเดล – ฟัตตาห์ อัล – บุรฮาน” กับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง ซึ่งมี “สมาคมวิชาชีพแห่งซูดาน” หรือ “เอสพีเอ” ซึ่งจัดตั้งม็อบขึ้นมาแบบตั้งแคมป์ ตั้งค่าย กันเลยทีเดียว สำหรับการเจรจาต่อรองกับทีเอ็มซี ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา นับตั้งแต่การยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนชุดก่อน อย่างไรก็ตาม มีกระแสเสียงทรรศนะวิจารณ์จากเหล่านักวิเคราะห์ว่า แท้จริงแล้ว ทั้ง “ทีเอ็มซี” กับ “เอสพีเอ” ก็เคยเป็น “เนื้อเดียว” กันมาก่อน ในการโค่นล้มอำนาจรัฐบาล ที่ถูกระบุว่า เป็น “เผด็จการ” เพราะครองอำนาจมาอย่างยาวนานถึง 30 ปี ภายใต้การนำของ “ประธานาธิบดีโอมาร์ อัล – บาเชียร์” โดยกลุ่มม็อบที่จัดตั้งโดย “เอสพีเอ” ชุมนุมประท้วงรัฐบาลของประธานาธิบดีอัล-บาเชียร์มาเป็นเวลาหลายเดือน ด้วยข้อกล่าวหาทุจริตคอร์รัปชัน และไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำถดถอย สวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ จนนำมาซึ่งการรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนมีเจรจาต่อรองกันว่า จะให้มีรัฐบาลพลเรือนปกครองประเทศชั่วคราว หรือรัฐบาลเฉพาะกาล แล้วให้มีการเลือกตั้งในอีก 3 ปี ข้างหน้า ภายหลังจากสลายม็อบเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ทาง พล.ท.อัล-บุรฮาน ผู้นำ “ทีเอ็มซี” ก็ยกเลิกข้อตกลงข้างต้น โดยจะให้มีการเลือกตั้งในอีกราวๆ 9 เดือนข้างหน้า แต่ปรากฏว่า ทางฝ่ายค้านแกนนนำม็อบ กลับไม่ยอม เพราะเห็นว่า ทางกองทัพอาจใช้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นอีกราวๆ 9 เดือนข้างหน้านั้น เป็นการฟอกตัวคณะทหาร และกรุยทางที่จะนำไปสู่การสืบทอดอำนาจการปกครองของคณะทหารที่ก่อรัฐประหารดังกล่าว เหล่านักวิเคราะห์แสดงทรรศนะด้วยว่า มิใช่แต่เฉพาะการเผชิญหน้าแต่เฉพาะภายในซูดานเท่านั้น ที่ทำให้ประเทศในทางฝั่งตะวันออกของกาฬทวีปต้องอยู่ในสภาพอย่างที่เป็นอยู่ แต่ยังมีบรรยากาศของการประชันแข่งขันระหว่างกลุ่มประเทศต่างๆ จากนอกซูดาน เป็นเหตุปัจจัยจนนำไปสู่สถานการณ์ละเลงข้างต้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางโดยการนำของซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และอียิปต์ ที่พยายามสร้างอิทธิพลในซูดาน หลังการโค่นล้มประธานาธิบดีอัล-บาเชียร์ พล.ท.อับเดล – ฟัตตาห์ อัล – บุรฮาน ผู้นำคณะรัฐประหาร “สภาทหารเพื่อการเปลี่ยนผ่านซูดาน” หรือ “ทีเอ็มซี” (ซ้าย) เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฏราชกุมารซาอุดีอาระเบีย ที่กรุงเมกกะห์ ก่อนเกิดเหตุการณ์สลายผู้ชุมนุมในอีกไม่กี่วันถัดมา หรือการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจตะวันตก ที่ครั้งนี้นำโดยอังกฤษ และเยอรมนี กับอีกฝ่ายที่นำโดยรัสเซีย และจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งทั้งสองประเทศหลังนี้ พยายามเข้าไปมีอิทธิพลทั้งทางการทหาร และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านพลังงานและสินแร่ จนถึงกับออกเสียงวีโต้คัดค้านในที่ประชุมยูเอ็นเอสซีครั้งล่าสุด จนที่ประชุมไม่สามารถออกมติประณามต่อคณะรัฐประหารซูดาน ในการใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมที่เกิดขึ้นได้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ให้การต้อนรับอดีตประธานาธิบดีโอมาร์ อัล – บาเชียร์ แห่งซูดาน ซึ่งหลังจากนายอัล – บาเชียร์ ถูกโค่นอำนาจไป ประธานาธิบดีปูติน ก็ยังให้การสนับสนุนต่อคณะรัฐประหารของซูดานอยู่ อย่างไรก็ดี เหล่านักวิเคราะห์ก็แสดงทรรศนะด้วยความเป็นห่วงว่า การเล่มเกมยื้อโดยที่มิได้จัดการสะสางปัญหาความขัดแย้งของฝ่ายต่างๆ ในซูดานให้คลี่คลายไป อาจส่งผลให้สถานการณ์กลับเลวร้ายหนักขึ้น เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วง “อาหรับสปริง” ที่บานปลายจนกลายเป็นการเพาะบ่มให้ฝ่ายต่อต้านทางการ หันไปจับอาวุธลุกขึ้นมาต่อสู้ อย่างกรณีของซีเรีย ที่ถึง ณ วินาทีนี้ ไฟสงครามกลางเมืองก็ยังไม่ดับมอดลง