คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย ณ บัดนี้ประเด็นเรื่องการถอดถอน “ประธานาธิบดีโดนัดล์ ทรัมป์” ให้พ้นออกจากตำแหน่งกำลังจะกลับมาเข้มข้นอีกครั้งหนึ่ง ในเรื่องนี้แม้กระทั่งสมาชิกในค่ายพรรครีพับลิกัน และ สมาชิกพรรคเดโมแครต ก็ยังแบ่งออกเป็นสองฝ่ายอย่างเด่นชัด โดยขณะนี้จะเห็นได้ว่า ผู้ที่สังกัดอยู่ในพรรครีพับลิกันออกมารณรงค์ต่อต้าน มิต้องการให้มีถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์สูงมากถึง 90% ส่วนสมาชิกในพรรคเดโมแครตต้องการให้มีการถอดถอนอยู่ที่ 76% อีกทั้งขณะนี้นักการเมืองค่ายพรรคเดโมแครตในสภาคองเกรสก็ยังแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่ายด้วยเช่นกัน กล่าวคือ “แนนซี เพโลซี่” ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้กล่าวย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า “ดิฉันจะไม่ดำเนินในกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่ง ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากพรรครีพับลิกัน” ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์ก็ทำใจกล้าออกมาท้าทายเป็นประจำๆว่า “ให้ดำเนินการถอดถอนตนเสียที” โดยเขาอาจจะคิดว่า หากเขาทำเยี่ยงนี้แล้วคนอเมริกันคงจะหันมาเห็นอกเห็นใจเพิ่มมากขึ้น!!! และจากการรายงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ว่า “นักการเมืองในค่ายพรรคเดโมแครตจำนวน 59 คนได้ออกมาแสดงท่าทีที่ค่อนข้างเด่นชัด โดยฝ่ายหนึ่งขอให้เริ่มดำเนินกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ในทันท่วงที แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับต้องการที่จะให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการรับฟังข้อคิดเห็น (Hearings) และให้มีการถ่ายทอดออกสู่สายตาของสาธารณะชนอีกด้วย อนึ่งส.ส.สิบสี่สมัย จิม ไคลเบอร์น จากรัฐเซาท์แคโรไลนา ซึ่งเป็นผู้นำอันดับสามของพรรคเดโมแครตในสภาผู้แทนฯได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ในที่สุดแล้วกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์คงจะมีเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” ทั้งนี้ สส.ไคลเบอร์น มีความต้องการที่จะให้คณะกรรมการทั้งเจ็ดชุดของสภาผู้แทนฯที่กำลังดำเนินการสอบสวนประธานาธิบดีทรัมป์ในหลายๆประเด็นออกมาปฏิบัติตามขบวนการ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพุธของสัปดาห์ที่แล้ว “อัยการพิเศษโรเบิร์ต มุลเลอร์” ที่รับหน้าที่สอบสวนกรณีรัสเซียเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เป็นครั้งแรกนานกว่าสิบนาทีว่า “ขอให้ทุกฝ่ายอ่านผลสรุปในรายงานทั้งหมดที่มีถึง 448 หน้า” และยังบอกใบ้แถมท้ายว่า “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังมิได้พ้นมลทินต่อประเด็นที่ว่ารัสเซียเข้ามามีส่วนสมรู้ร่วมคิดหรือไม่? แต่ขอให้เป็นหน้าที่ของสภาคองเกรสที่จะต้องเข้ามาเป็นฝ่ายหาข้อยุติในเรื่องนี้” แต่ในทางกลับกันประธานาธิบดีทรัมป์ผู้ที่ถูกกล่าวหาก็มิได้นิ่งเฉย โดยเขาได้ออกมากล่าวย้ำตลอดเวลาว่า “ข้าพเจ้าพ้นมลทินแล้ว” แถมยังออกมากล่าวท้าทายมุลเลอร์อย่างทันทีทันควันว่า “หากข้าพเจ้ากระทำความผิดจริงและมีหลักฐาน ก็ควรจะตั้งข้อหา และไม่สมควรที่จะแต่งตั้งมุลเลอร์ในการสอบสวนเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป" ทั้งนี้เมื่อครั้งที่ “รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมวิลเลียม บารร์” ส่งผลสรุปย่อๆสี่หน้าให้แก่ผู้นำสภาคองเกรสเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ในนั้นมีใจความว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์พ้นจากมลทินแล้ว” โดยครั้งนั้นประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกมาทวิตเตอร์กล่าวว่ามุลเลอร์เป็นบุคคลที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า การออกมาให้สัมภาษณ์ของอัยการมุลเลอร์ในครั้งนี้กลายเป็นการจุดฉนวนให้ประธานาธิบดีทรัมป์ร้อนตัวจนต้องออกมาโจมตีอัยการพิเศษโรเบิร์ต มุลเลอร์ ทางด้านลบอย่างทันทีทันควัน!!! ส่วน “ส.ส.เจอร์รี่ นาดเลอร์” ประธานคณะกรรมการตุลาการในสภาผู้แทนราษฎรได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันจันทร์ที่เพิ่งผ่านมานี้ว่า “หนทางที่จะถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่งมีอยู่หลายวิธี แต่ทางออกที่ดีและเร่งด่วนที่สุดขณะนี้ก็คือ ต้องมีการเปิดรับความคิดเห็นโดยเผยแพร่ออกสู่สายตาของสาธารณชน” สำหรับ “ส.ส.อดัม ชิฟฟ์” ประธานคณะกรรมการข่าวกรอง ซึ่งเขาผู้นี้เป็นนักการเมืองที่มีอิทธิพลอีกคนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันจันทร์นี้เช่นกันว่า “เราจะทำทุกอย่างในแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อประเทศชาติ” อนึ่งหากย้อนกลับไปศึกษาถึงกรณีการถอดถอนประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมาในอดีตที่มีถึงสามกรณีด้วยว่าเป็นเช่นใดบ้าง? กรณีแรกได้เกิดขึ้นกับประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ที่เข้าสืบทอดตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมจากการถูกลอบสังหาร ซึ่งขณะนั้นถือได้ว่าจอห์นสันเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนแรกที่กล้าท้าทายและยั่วยุสภาคองเกรสอย่างเปิดเผย โดยต่อมาไม่นานประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสันเกือบจะโดนถอดถอนเนื่องจากสภาผู้แทนฯมีมติด้วยคะแนนถอดถอนอย่างท่วมท้นคือ 126 ต่อ 47 แต่ถือว่าโชคดีอย่างหวุดหวิดเพราะวุฒิสภามีมติ 35 ต่อ 19 โดยขาดไปเพียงแค่หนึ่งคะแนนเสียงเท่านั้น!!! ส่วนในกรณีที่สองได้เกิดขึ้นกับประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ซึ่งนับเป็นนักการเมืองที่มีพรสวรรค์และมีความเฉลียวฉลาด แต่กลับใช้ในทางที่ผิด โดยเขาใช้เล่ห์เหลี่ยมเข้าสู่ทำเนียบขาวอย่างผิดกฎหมายให้สมุนเข้าไปขโมยข้อมูลของพรรคเดโมแครตผู้เป็นคู่แข่ง ณ อาคารวอเตอร์เกต จนท้ายที่สุดนิกสักได้ชิงลาออกก่อนที่จะถูกดำเนินการถอดถอน สำหรับกรณีของประธานาธิบดีบิล คลินตัน ซึ่งครั้งนั้นเขาถูกข้อหาสองกระทงคือ เบิกความเท็จและขัดขวางกระบวนการยุติธรรม โดยสภาผู้แทนราษฎรด้วยเสียง 228 ต่อ 206 มีมติว่าคลินตันมีความผิดฐานเบิกความเท็จ และ 221 ต่อ 212 มีมติว่าคลินตันขัดขวางต่อกระบวนการยุติธรรม แต่ทว่าประธานาธิบดีคลินตันมีพันธมิตรอันเหนียวแน่นในวุฒิสภา จึงไม่มีวุฒิสมาชิกคนใดในพรรคเดโมแครตลงมติถอดถอนเขาเลยแม้แต่คนเดียว และถึงแม้ว่าในขณะนี้ประธานาธิบดีทรัมป์มีเสียงสนับสนุนอย่างค่อนข้างจะเหนียวแน่นก็ตาม แต่กลับปรากฏว่าเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ส.ส.จัสติน อมาช สังกัดพรรครีพับลิกันจากรัฐมิชิแกน ได้ออกมาประกาศก้องว่า “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความผิดเข้าข่ายขัดขวางต่อขบวนการยุติธรรม” ซึ่งแน่นอนว่าเขาได้ถูกประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาโจมตีตอบโต้กลับอย่างทันควันด้วยเช่นกัน!!! และเมื่อกลางเดือนเมษายนปีนี้ จิม เวลด์ อดีตผู้ว่าฯรัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งสังกัดอยู่ในค่ายพรรครีพับลิกันด้วยเช่นกัน ก็ได้ออกมาท้าทายประกาศอย่างเป็นทางการว่า จะลงแข่งขันกับประธานาธิบดีทรัมป์ เข้าไปเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2020 ทั้งนี้และทั้งนั้นพอจะสรุปได้ว่า ตราบใดก็ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังคงได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาอย่างเหนียวแน่น โอกาสที่เขาจะถูกโค่นล้มออกจากตำแหน่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างยาก และหากจะมีการดำเนินในกระบวนการถอดถอนตอนนี้ เขาก็คงจะได้รับความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งไม่แน่ว่า ประวัติศาสตร์อาจจะออกมาซ้ำรอยเดิมเหมือนดั่งกรณีของประธานาธิบดีบิล คลินตัน ก็มีความเป็นไปได้ละครับ