ศูนย์วิจัย และนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือ RISC โดยการสนับสนุนจาก “บ.แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น” (MQDC) จัดงานเสวนาระดับนานาชาติ “WATS FORUM 2019 เพื่อสร้างความเข้าใจ และส่งเสริมการพัฒนาแนวความคิดและนวัตกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของทุกสรรพสิ่งบนโลก” หรือ For All Well-being โดยงานเสวนาครั้งนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งนักธุรกิจ นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา สถาปนิก และผู้ที่ทำงานในแวดวงพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่มีความสนใจในด้านความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) สถาปัตยกรรม (Architecture) เทคโนโลยี (Technology) และความยั่งยืน (Sustainability) พร้อมค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาตนเองและสังคมโดยรวม “รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต” หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) เผยถึงจุดประสงค์ในการจัดงานว่า RISC มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันกระแสการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี หรือ Well-being ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากในปัจจุบัน และเราเชื่อว่า อนาคตที่สวยงามและยั่งยืนอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนร่วมกันแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญ เราจึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง โดยหวังว่าทุกท่านที่มาร่วมงานจะได้รับความรู้และแรงบันดาลใจในการค้นหาแนวทางที่จะนำความรู้ความสามารถของตนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน เพื่อแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างที่ชัดเจนของการพัฒนาอย่างยั่งยืน “เชอริง ต๊อบเกย์” อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศภูฏานได้แบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จในการพัฒนาแบบองค์รวม แต่ประชากรในชาติยังใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอย่างแท้จริง อายุขัยเฉลี่ยของประชากรเพิ่มสูงขึ้น อัตราการรู้หนังสือสูงขึ้น และความยากจนลดลง ว่า กว่า 400 ปีที่แล้ว กษัตริย์องค์หนึ่งของเราเคยกล่าวไว้ว่า “หากรัฐบาลไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความสุขได้ รัฐบาลนั้นก็ไม่สมควรดำรงอยู่อีกต่อไป” คำพูดนี้กลายมาเป็นแนวทางที่เราใช้ในการพัฒนาประเทศแบบองค์รวม คือพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาสังคม พัฒนาคน และดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะความสุขนั้นไม่ใช่เพียงสิ่งที่แต่ละคนแสวงหา แต่ควรเป็นสิ่งที่รัฐส่งเสริมด้วย นอกจากนี้ ประเทศภูฏานยังเริ่มใช้ GNH เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรธุรกิจอีกด้วย เพื่อกระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ไม่เพียงแต่แสวงหากำไรเท่านั้น แน่นอนว่า วิธีการของภูฏาน อาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะกับประเทศอื่น ๆ แต่แนวคิดนี้ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้” นอกจากนี้ ท่านยังได้ชี้ให้เห็นถึงความหมายที่แท้จริงของ “ความสุข” ว่าไม่ใช่ความสนุกสนานร่าเริง แต่เป็นความสบายใจและพอใจในสิ่งที่มี ซึ่งประชาชนชาวภูฏานถึง 92% ยืนยันว่าพวกเขามีความสุขอย่างแท้จริง “รศ. ดร. ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์” วิศวกร และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ได้ค้นพบแนวทางในการสร้างความสุขของทั้งตนเองและผู้อื่น จากการมองเห็นถึงปัญหาในด้านสาธารณสุข ไปจนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม ที่สวนทางกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วยทุพพลภาพ โดยทุกวันนี้มีเครื่องมือมากมายที่ผลิตมาเพื่อดูแลหรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย แต่ขาดแคลนเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง อีกหนึ่งเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน คือผลงานการวิจัยของ “ศาสตราจารย์ ไมเคิล สตีเวน สตราโน” นักวิศวเคมีจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า คนส่วนใหญ่มักมองว่า พืชพรรณธรรมชาติ กับ เทคโนโลยี เป็นขั้วตรงข้ามที่ไม่สามารถไปด้วยกันได้ จึงมีนักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่มากนักที่ใช้พืชเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ในความเป็นจริงแล้ว พืชมีข้อดีที่น่าสนใจหลายอย่าง พวกมันสามารถสร้างพลังงานผ่านการสังเคราะห์แสงได้ด้วยตัวเอง เก็บกักพลังงานได้ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ ซ่อมแซมตัวเองได้ และยังใช้พลังงานและต้นทุนน้อยมากในการดูแล ด้วยเหตุผลเหล่านั้นนำมาซึ่งผลงานที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดของเขา คือพืชเรืองแสงที่สามารถให้แสงสว่างได้นานถึง 4 ชั่วโมง โดยเขาหวังว่าจะสามารถพัฒนาพืชสามารถส่องแสงสว่างได้ยาวนานขึ้นจนนำใช้แทนโคมไฟอ่านหนังสือหรือเสาไฟตามท้องถนนได้ และยังสามารถเป็นแหล่งพลังงานสำรองหากเกิดเหตุฉุกเฉิน “หากเราประสบความสำเร็จในการสร้างความสามารถต่าง ๆ ให้กับพืช ในอนาคตเราอาจจะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้ามาก เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทำให้ไฟฟ้าใช้การไม่ได้ เราก็ยังสามารถอาศัยแสงสว่างจากต้นไม้ที่อยู่รอบตัวเราได้” ในด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับประชากรในเมืองใหญ่ “สเตฟาน เดอ โคนิง” สถาปนิกชาวดัตช์ที่มากด้วยฝีมือและความสามารถ จาก MVRDV ได้แสดงความเห็นว่า ปัญหาต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร เป็นปัญหาที่เมืองใหญ่ทั่วโลกล้วนพบเจอ เนื่องจากเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงมีประชากรอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น และเกิดความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่ตามมาคือปัญหามลพิษ การจราจรหน่าแน่น และน้ำท่วมขัง ในมุมมองของสถาปนิกและนักพัฒนาที่ดิน สิ่งที่เราทำได้คือการสร้างพื้นที่สำหรับทุกฝ่าย และวางแผนอย่างครอบคลุม เข้าใจถึงบริบทสังคม และภูมิประเทศในแต่ละพื้นที่ เพราะแม้ปัญหาจะใกล้เคียงกัน แต่แน่นอนว่าย่อมไม่มีที่ใดที่เหมือนกัน ดังนั้นจึงเสนอการใช้อาคารสูงและโครงการแบบ mixed-use เข้ามาช่วยแก้ปัญหา โดยศึกษาจาก case study ในอดีตที่ประสบความสำเร็จแล้วนำมาปรับใช้ “กรุงเทพฯ มีซอยเล็ก ๆ น้อย ๆ มากมาย รวมพื้นที่กว่า 10,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นทั้งย่านที่อยู่อาศัย เป็นที่ตั้งของธุรกิจในพื้นที่ และเป็นสังคมดั้งเดิมของเมืองหลวง นอกจากนี้ก็ยังมีลำคลองขนาดเล็กจำนวนมากเชื่อมต่อกันเป็นวงจรขนาดใหญ่ รวมถึงแม่น้ำเจ้าพระยาเองก็ได้ใช้ประโยชน์เพียงมูลค่าความสวยงามเท่านั้น จึงน่าคิดว่าเราสามารถนำทรัพยากรที่เรามีอยู่มาใช้เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างไรบ้าง” รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต กล่าวเสริมว่า ทุกวันนี้เราให้ความสนใจกับตัวเอง กับความต้องการมนุษย์มากเกินไป จนลืมดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัว เราจึงควรหันมาสนใจการออกแบบเพื่อสังคมโดยรวม มากกว่าออกแบบเพื่อความสะดวกสบายของมนุษย์เท่านั้น โดยคำนึงถึงสิ่งที่จำเป็นสำหรับเราจริง ๆ ไม่ใช่เพียงความต้องการส่วนตน ส่วนในภาคธุรกิจนั้น เราก็หวังว่าจะได้เห็นความพยายามในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน และเพื่อตอกย้ำจุดยืนและความมุ่งมั่นขององค์กร RISC มีความตั้งใจในการจัดงานเสวนา WATS Forum เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิด แบ่งปันความรู้ และสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถและสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างอนาคตที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป