มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จัดประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 10 ดึงองค์กรชั้นนำระดับนานาชาติด้านเทคโนโลยีร่วมบรรยาย พร้อมเปิดเวทีโชว์ผลงานวิจัยสุดเจ๋ง รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้ร่วมกับ Deakin University เครือรัฐออสเตรเลียจัดประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 10 ภายใต้ชื่องานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน : เปลี่ยนวิกฤตดิจิทัลให้เป็นโอกาส (The 10th RMUTP International Conference : Science, Technology and Innovation for Sustainable Development : Turning Digital Disruptions into Opportunities) ระหว่างวันที่ 4 - 5 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ซึ่งการจัดประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการให้เป็นที่รู้จัก สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ ทรัพยากรในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเพื่อเป็นเวทีให้คณาจารย์ นักศึกษาปริญญาโท นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งในและต่างประเทศมีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัย บทความทางวิชาการด้านต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการรักษาพร้อมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ รวมทั้งเป็นการสร้างนักวิชาการ นักวิจัยมุ่งศึกษาค้นคว้า อันจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ ทางวิจัยกับสถานศึกษาในต่างประเทศ ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงมหาวิทยาลัยฯ ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในปีนี้มีนักวิจัยส่งผลงานเข้าร่วมจำนวน 131 ผลงาน แบ่งเป็นประเภทการนำเสนอในรูปแบบการพูด (Oral Presentation) จำนวน 29 บทคัดย่อ และการนำเสนอรูปแบบโปสเตอร์ (Poster Presentation) จำนวน 102 บทความ รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ กล่าวว่า เพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลที่ต้องการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาวและสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ จึงถือเป็นเวทีสากลในการนำเสนอผลงานวิชาการและผลงานวิจัยและเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ อันก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในด้านเนื้อหา กระบวนการวิจัย องค์ความรู้ และระเบียบวิธีวิจัยใหม่ ๆ ระหว่างนักวิจัยในประเทศและต่างประเทศนำไปสู่การต่อยอดองค์ความรู้ ซึ่งมุ่งเน้นผลักดันแนวคิดการพัฒนาด้านสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเป็นการขับเคลื่อนสู่สังคมดิจิทัลอย่างแท้จริง อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมของการพัฒนาร่วมกันทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค ในปีนี้มีการบรรยายหลักจากองค์กรชั้นนำระดับนานาชาติด้านเทคโนโลยี บริษัท Huawei Technologies Co., Ltd. ในหัวข้อ Turns Digital Disruption into Opportunity และการบรรยายในหัวข้อ Marketing Capability and Corporate Investment จาก Prof. Paresh Narayan สถาบัน Deakin University ประเทศเครือรัฐออสเตรเลีย รวมถึงการบรรยายพิเศษ (Special Forum) ในหัวข้อ Aviation & Railway System และ Global SME และยังมีการบรรยายในหัวข้อย่อยที่น่าสนใจอีก 4 ด้าน ได้แก่ ด้านวิทยาศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมและวิศวกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านความยั่งยืนของสิ่งทอและเสื้อผ้า และด้านการสร้างแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ “ความพิเศษของปีนี้คือผลงานวิจัยหรือบทความวิชาการที่ถูกนำเสนอในงานประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ จะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ICONSCI 10th Proceeding และยังมีโอกาสได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Applied Mechanics and Materials และ Economic Modelling นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนวัตกรรม อาทิ ชุดจำลองป้องกันอัคคีภัยในห้องครัว ผ่านแอปพลิเคชั่น การประดิษฐ์เซรามิกขั้นสูง สำหรับการประยุกต์ใช้ทางด้านวัสดุทันตกรรม ผลิตภัณฑ์แผ่นมาส์คหน้ากระดาษใยไหม ให้ความชุ่มชื้นจากเซริซิน ครีมบำรุงส้นเท้าจากสกัดเปลือกกล้วย-มะละกอ การใช้ประโยชน์จากเถาย่านางออกแบบผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่นภาคใต้ เป็นต้น” อธิการบดีกล่าว