นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการธนาคาร ( บอร์ด) วันที่ 18 มิถุนายน 2562 จะเสนอขอบอร์ดอนุมัติวงเงิน 15,000 -20,000 ล้านบาท ในการดำเนิน 3 มาตรการ ช่วยเหลือผู้ที่ต้องการมีบ้าน และที่อยู่อาศัย แต่ติดปัญหาสถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อ มาตรการที่1การออมก่อนกู้ จะให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า สนใจกู้ซื้อบ้านเข้ามาฝากเงินกับธนาคาร เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้ามีวินัยในการเก็บออม โดยจะอิงตามมูลค่าการออมเทียบกับการผ่อนชำระรายเดือน  หากมีการออมสม่ำเสมอ ทางธนาคารจะนำประวัติการออมเงินเป็นเกณฑ์พิจารณาปล่อยกู้ให้กับลูกค้า ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถชำระหนี้ ทำให้ธนาคารไม่ต้องวิเคราะห์เรื่องรายได้ของพ่อค้า แม่ค้าอีก แม้อาชีพกลุ่มนี้ไม่มีเงินเดือนประจำไม่มีสลิปเงินเดือน เพราะไม่ใช่มนุษย์เงินเดือนก็ตาม หากขอกู้ 1 ล้านบาท มีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน จะมีภาระการผ่อน 7,000 บาทต่อเดือน สำหรับมาตรการที่ 2 เงินกู้กับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และให้ลูกค้าที่ซื้อบ้านมาผ่อนดาวน์กับโครงการ เมื่อครบระยะเวลา 2 ปีตามกำหนดเพื่อดูความสามารถชำระหนี้ จากนั้นให้โครงการโอนผู้ผ่อนดาวน์มาเป็นผู้กู้รายย่อยของธนาคาร  และมาตรการที่  3ผ่อนปรนเรื่องดอกเบี้ยให้กับลูกค้า ด้วยการปรับวิธีการคำนวณปล่อยสินเชื่อ โดยยึดหลักการประเมินรายได้ในอนาคตของผู้กู้ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยเคาะตัวเลขกลางในกลุ่มพนักงานเอกชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3 ส่วนข้าราชการจะมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 หากมีการประเมินด้วยเกณฑ์รายได้ล่วงหน้าจะช่วยให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยของตัวเองง่ายขึ้น คิดดอกเบี้ยพิเศษร้อยละ 3 เป็นเวลา  3 ปีแรก เช่น วงเงินกู้ 1 ล้านบาท จะจ่ายผ่อนเพียง 2,000 บาทต่อเดือน เล็งเป้าหมายเป็นบ้านระดับราคา 1-2 ล้านบาท อย่างไรก็ตารมาตรการกำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ “LTV”ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงเดิม และไม่มีผลกระทบกับผู้กู้สัญญาแรก หรือมีบ้านหลังแรก และไม่เกิน 10 ล้านบาท แต่มาตรการของออมสินออกมาแก้คนที่กู้ไม่ผ่าน หรือรายได้ไม่พอ ซึ่งนโยบายที่ทำอยู่ตอบสนองนโยบายรัฐบาลทุกชุด เพื่อช่วยเศรษฐกิจฐานราก เช่น สินเชื่อประชาชน สินเชื่อ Home Stay สินเชื่อบ้าน และช่วยแก้โจทย์กู้บ้านยากขึ้น” นายชาติชาย กล่าว “ธ.ออมสินดำเนินการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง หลังจากเปิดศูนย์ย่อยควบคุมและบริหารหนี้ 80 ศูนย์ทั่วประเทศ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ ส่งผลให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ร้อยละ 2.83 ของสินเชื่อรวม ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของระบบสถาบันการเงิน”