ตลอดระยะเวลา 12 ปี สู่อีกก้าวความสำเร็จน่าภาคภูมิใจของรพ.ศิริราช ที่มุ่งช่วยผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการรักษา จนพัฒนาเทคนิคเฉพาะที่เหมาะสำหรับคนไทย โดยผ่าไปแล้ว 86 ตา ในผู้ป่วย 75 ราย วันที่ 4 มิ.ย.62 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จัดแถลง “ศิริราชประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รักษาผิวกระจกตาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย” โดยศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์  วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 12 ปี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯได้พัฒนาวิธีรักษาด้านจักษุวิทยามาจนประสบความสำเร็จ จากงานวิจัยสู่การรักษา ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2550 ได้ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ผิวกระจกตา  สำเร็จเป็นครั้งแรกของไทย ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลิมบัส CLET (Cultivated limbal epithelial transplantation) ต่อมา พ.ศ.2551 พัฒนาการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเยื่อบุปาก COMET (Cultivated oral mucosal epithelial transplantation)  จากนั้น พ.ศ. 2557 ถึงปัจจุบัน ใช้วิธีปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อลิมบัสโดยไม่อาศัยการเพาะเลี้ยง SLET (Simple limbal epithelial transplantation) มาใช้ สำเร็จเป็นครั้งแรกและแห่งแรกของไทย ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการรักษา ซึ่งการพิจารณาเลือกการรักษาวิธีใดจาก 3 วิธีนี้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วย รศ.พญ.งามแข เรืองวรเวทย์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา กล่าวว่า การที่กระจกตาสามารถคงความใสอยู่ได้ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ สเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา ที่ทำหน้าที่เสมือนโรงงานคอยสร้างเซลล์ผิวกระจกตาขึ้นทดแทนเซลล์เก่าที่ตายไปตลอดเวลา ทั้งทำหน้าที่เป็นเขื่อนป้องกันไม่ให้เส้นเลือดจากเยื่อตารุกเข้ามาในกระจกตาได้ โดยสเต็มเซลล์อยู่ที่ตำแหน่งรอยต่อของกระจกตาและเยื่อตาที่เรียกว่า “ลิมบัส” ซึ่งภาวะสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาบกพร่อง พบในหลายโรค เช่น ตาที่ได้รับอันตรายรุนแรงจากสารเคมีเข้าตา กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน การอักเสบหรือการติดเชื้อที่กระจกตา โรคสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาบกพร่องแต่กำเนิด โรคเนื้องอก หรือต้อเนื้อขั้นรุนแรง ตาที่ได้รับการผ่าตัดหลาย ๆ ครั้ง เป็นต้น  เมื่อสเต็มเซลล์บกพร่องทำให้มีเส้นเลือดรุกเข้ามาในกระจกตา กระจกตาขุ่น เกิดแผลถลอกที่ผิวกระจกตา กระจกตาติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยมีสายตามัวลง สำหรับภาวะสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาบกพร่อง เป็นภาวะที่รักษายาก ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาตามวิธีมาตรฐาน ไม่สามารถรักษาภาวะสเต็มเซลล์บกพร่องได้ และเส้นเลือดยังสามารถรุกเข้ามาในกระจกตาจนบดบังการมองเห็น ในผู้ป่วยที่สเต็มเซลล์บกพร่องมาก การรักษาจำเป็นต้องปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา รศ.พญ.ภิญนิตา ตันธุวนิตย์ หัวหน้าสาขากระจกตา ภาควิชาจักษุวิทยา และหัวหน้าทีมปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตาศิริราช ทางคลินิก กล่าวว่า การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา วิธีในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่ 1 จากการเพาะเลี้ยงเซลล์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งได้มาจากเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลิมบัสหรือเยื่อบุปาก กลุ่มที่ 2 นำเนื้อเยื่อจากลิมบัสมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยโดยตรง โดยไม่ต้องเพาะเลี้ยงเซลล์ในห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ ได้รักษาผู้ป่วยภาวะสเต็มเซลล์เยื่อบุผิวกระจกตาบกพร่องด้วยวิธีการทั้ง 3 วิธี และได้พัฒนาเทคนิคเฉพาะให้เหมาะสมกับผู้ป่วยไทยด้วยวิธี SLET เรียกว่า “ศิริราชเทคนิค” และหากมีผู้ป่วยที่มีภาวะสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาบกพร่อง จะเลือกใช้วิธี SLET โดยใช้เซลล์ของผู้ป่วยเองหรือของญาติสายตรงมาปลูกถ่ายเป็นวิธีแรก แต่หากสภาวะของผู้ป่วยไม่เหมาะสมกับวิธี SLET จะพิจารณาปลูกถ่ายด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแทน ปัจจุบันการรักษาภาวะสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตาบกพร่อง ทั้ง 3 วิธีของโรงพยาบาลศิริราช ได้ผ่าตัดไปทั้งสิ้น 86 ตา ในผู้ป่วย 75 ราย จากวิธี CLET 24 ตา COMET 27 ตา ประสบผลสำเร็จประมาณร้อยละ 70 ในขณะวิธี SLET ผ่าตัดแล้ว 35 ตา ประสบผลสำเร็จถึง ร้อยละ 83 นอกจากนี้ ยังได้ขยายการวิจัยร่วมกับภาควิชาจักษุวิทยาของโรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคคลากรทางการแพทย์ผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งยกระดับงานวิจัยสู่ระดับนานาชาติต่อไป