วันที่ 3 มิ.ย. 62 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ และส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวถึง กรณีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง ว่า ในความเป็นจริงนั้น คนที่จะเป็นนายกฯ ควรจะสง่างาม มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญ กำหนด พล.อ.ประยุทธ์ มีข้อกังขาต่อคุณสมบัติหลายประการ ถ้าโหวตโดยไม่มีการชี้ชัด อาจจะทำให้ขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งนั้น หากโหวตเลือกนายกฯ เป็นใครก็ไม่มีปัญหา เพราะ รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ก็กำหนดให้โหวตนายกฯได้ ใน 5 ปีแรก แต่การโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ จะมีปัญหาทันทีเพราะ มาตรา 114 วางหลักการเอาไว้ห้าม ส.ส. หรือ ส.ว. ไปมีผลประโยชน์ขัดกัน เพราะข้อเท็จจริงนี้ชัดเจนมาก ส.ว.ชุดนี้ ยกเว้น 6 ผู้นำเหล่าทัพที่มาโดยตำแหน่ง ได้รับการเลือกโดย พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นหัวหน้าคสช. แล้วคนเหล่านี้จะมาเลือก พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯอีก ทั้งๆที่ก็รู้มาตั้งแต่วันเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯแล้ว แบบนี้ทำให้มองเห็นว่ามีลักษณะของการต่างตอบแทนอยู่หรือไม่ เคยมีกรณีการตัดสินของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญในข้อเท็จจริงที่คล้ายกันมาแล้ว เกรงว่าจะมีการฟ้องร้องกันในภายหลังและไม่มีความสง่างามเลย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ และส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะอดีตประธานรัฐสภา แสดงความคิดเห็นต่อกรณีมาปรากฏตัวของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯต่อรัฐสภา และการแสดงวิสัยทัศน์ ณ ที่ประชุมในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ว่า แม้ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมา แต่ก็จะเป็นความมหัศจรรย์อยู่ในที เพราะคนถูกเสนอชื่อ ก็ควรอย่างยิ่งที่จะให้คนเลือกได้เห็นหน้าตา โดยความเหมาะสมแล้วจึงควรที่จะมา เพราะถือเป็นการให้เกียรติต่อผู้แทนฯ ที่ประชาชนเลือกมาด้วย ซึ่งหากบอกว่าไม่ว่าง แต่จะมาเป็นนายกฯ ก็ไม่รู้จะเสนอตัวมาทำไม เพราะวันข้างหน้ามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อสภาแห่งนี้ด้วย ขณะที่การแสดงวิสัยทัศน์ อดีตประธานรัฐสภา มองว่า แม้รัฐสภาไม่ได้มีการกำหนดไว้เช่นกัน แต่ถ้าจะแสดงวิสัยทัศน์ก็ไม่ได้ผิดกติกา และก็ไม่มีข้อห้ามว่าต้องไม่แสดง การตีความว่าไม่ได้กำหนดไว้ ไม่ใช่ว่าห้ามทำ แต่เมื่อมองประโยชน์ต่อทั้งผู้เลือกและประชาชนแล้ว มีแต่ข้อดี เพราะคนเลือกจะได้ฟังทัศนะว่าจะมาบริหารประเทศบ้านเมืองอย่างไร เข้าใจกติกาประชาธิปไตยแล้วหรือยัง อย่าพึ่งไปกลัว เพราะทั้งการมาปรากฏตัวที่สภา และการแสดงวิสัยทัศน์ เสียงข้างมากอาจจะมีมติไม่ต้องแสดงก็ได้ ระบอบประชาธิปไตยมีทางออกให้อย่างสันติและไม่น่ากลัวเลย อย่าพึ่งทึกทักไปก่อน เพราะคนเป็นผู้นำต้องพร้อมทุกสถานการณ์ ทั้งนี้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวถึงกรณีที่มี ส.ส.หรือส.ว.บางคน พยายามที่จะอธิบายด้วยการตีความกฎหมายให้เป็นประโยชน์ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ อาทิ รัฐบาลเสียงข้างน้อย หรือการพิจารณางบประมาณโดยรัฐสภา ว่า คนเหล่านี้กำลังทำตัวเป็น “ศรีธนญชัย” ทำลายหลักการประชาธิปไตยสากล ถ้าจะปฏิบัติอย่างที่ว่ามานั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน การเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยทำได้แต่เสถียรภาพและความมั่นคง ก็คงลำบาก และเสียงจากประชาชนเกินครึ่งที่สะท้อนผ่านเสียงผู้แทนฯไม่มีความหมายหรืออย่างไร เพราะกำลังบอกว่าไม่ได้รับความเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่ ส่วนการให้ส.ว.เข้ามาร่วมพิจารณางบประมาน นั้นเป็นไปไม่ได้ ไม่มีในกฎหมายฉบับใดให้อำนาจ แม้ในอดีตจะมี แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ต่างจากปี 2521 ที่ผู้ร่างเวลานั้น เขียน ระบุไว้เลยให้ ส.ว.ทำได้ ด้วยการมีกรรมการประชุมร่วมกัน แต่ปี 2560 บทเฉพาะกาล เขียนให้ส.ว.ทำได้กรณีเดียวคือให้มาเลือกนายกฯได้ 5 ปีเท่านั้น ซึ่งหากดันทุรังจะทำเรื่องนี้ก็ต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ข้องระมัดระวัง พลังของประชาชน เพราะคงไม่ยอม ถ้าเป็นแบบนี้ ประชาชนต้องออกมาขอแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยแน่นอน ดังนั้นอย่าดูถูกสติปัญญาประชาชน ซึ่ง พรรคประชาชาติขอยืนยัดหลักการและสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากประชาชน และทำงานเพื่อประชาชนเท่านั้น