รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล เสรีภาพกับภาพเขียนที่ถูกปลด ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะที่ผู้คนให้ความสนใจกันมาก คือข่าวเรื่องภาพเขียนชิ้นหนึ่งถูกปลดออกจากนิทรรศการที่อาคารรัฐสภาแห่งสหรัฐฯ ที่วอชิงตัน ดี. ซี. ภาพชิ้นนี้เป็นภาพสีน้ำมัน เขียนโดยนาย David Pulphus นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา โดยมีเนื้อหาของภาพที่ชัดเจนมากว่าเป็นการเปิดเผยด้านมืดของสังคมอเมริกัน เช่น ภาพตำรวจที่มีหัวเป็นสุนัขกำลังยิงคน ภาพคนดำที่ถูกตรึงไม้กางเขน ทั้งที่ในมือยังถือสัญลักษณ์ของความยุติธรรมอยู่ เป็นต้น แน่นอนว่าการที่ทางอาคารรัฐสภาปลดภาพนี้ลงย่อมต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อมีนักกฎหมายหลายคนออกมาระบุว่า การกระทำเช่นนั้นคือการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ อย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการเรียกร้องให้มีการนำงานชิ้นนี้กลับมาแสดงใหม่ ก็มีการนำภาพนี้กลับมาแขวนอีกครั้ง โดยหลังจากนั้นก็มีการปลดภาพ และนำขึ้นแสดงใหม่ ซ้ำๆ กันไปมาหลายรอบ ด้วยความเห็นที่แตกต่างกันจากหลายฝ่าย จนสุดท้าย ทางผู้แทนของอาคารรัฐสภาได้ทำการปลดภาพนี้ออก และออกมากล่าวแก้ว่า ภาพเขียนชิ้นนี้ทำผิดกฎการแสดงงานของอาคารฯ ที่ระบุว่าภาพเขียนทั้งหมดจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมือง อันนำไปสู่คำถามที่หลายคนคงมีในใจโดยอัตโนมัติว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วอาคารรัฐสภาจัดเป็นองค์กรชนิดใดกันแน่? และ “ไม่การเมือง” เลยหรืออย่างไร? ประเด็นเรื่องประธานาธิบดีคนใหม่ กับเรื่องการปลดภาพเขียนนี้จึงถูกเชื่อมโยงเข้าหากัน และมีหลายความเห็นเห็นว่าสหรัฐฯ กำลังดำเนินทิศทางการเมืองไปสู่ความเป็นอนุรักษนิยม ซึ่งลำพังตัวแนวคิดอนุรักษนิยมเองนั้นคงไม่มีปัญหาอะไร แต่ประเด็นที่น่าห่วงก็คือมันมีแนวโน้มที่จะลิดรอนเสรีภาพของประชาชนนั่นเอง และเพื่อความเป็นธรรม ก็ควรกล่าวไว้ด้วยว่า การลิดรอนเสรีภาพของประชาชน หาได้เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลอนุรักษนิยมฝ่ายเดียวไม่ เช่นในกรณีของฝรั่งเศสเมื่อสถาปนาสาธารณรัฐขึ้นใหม่ๆ รัฐบาลของฝ่ายประชาธิปไตยเสียอีกที่เป็นฝ่ายลิดรอนเสรีภาพของประชาชน โดยสั่งห้ามฝ่ายตรงข้าม (หรือฝ่ายกษัตริย์) ไม่ให้แสดงความเห็นต่างโดยสิ้นเชิง แต่ประเด็นปัญหาที่ชวนคิดในทุกวันนี้ น่าจะอยู่ตรงที่ว่า การสั่งห้ามแสดงงานศิลปะ หรือการเซ็นเซอร์นั้นใช้ได้ผลจริงเพียงใด? ในเมื่อโลกเราทุกวันนี้เชื่อมต่อกันด้วยอินเตอร์เน็ต และเอาเข้าจริงแล้ว แม้กระทั่งเว็บไซต์ที่ถูกทางการสั่งบล็อคห้ามเข้า ก็ยังสามารถเข้าถึงผ่านช่องทางพิเศษจำนวนหนึ่งได้อยู่ดี ยิ่งกว่านั้น หากเราพิจารณาการทำงานของรัฐอย่างประเทศไทย จะเห็นความลักลั่นย้อนแย้งของการ “เซ็นเซอร์” ที่อาจดูไร้เหตุผลและเลือกปฏิบัติอย่างน่าแปลกใจ เช่น การเบลอร์ภาพในจอภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ ห้ามไม่ให้ผู้ชมเห็นสุราหรือยาสูบ ทั้งที่ในบริบทโดยรวมของภาพ ผู้ชมก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจทุกคน ว่าตัวละครนั้นๆ กำลังกินเหล้าและสูบบุหรี่อยู่แน่ๆ แล้วเหตุใดเราจึงต้องเบลอร์ภาพเหล้าและบุหรี่นั้นให้เลือนไปจากสายตาของผู้ชม? ถ้าจะอ้างว่านั่นเป็นการโฆษณาสินค้า ก็พอฟังขึ้น แต่เหตุใดการเบลอร์ภาพจึงถูกใช้กับอาวุธอย่างเช่นปืนหรือมีดด้วย? ทั้งที่นั่นย่อมไม่ใช่การโฆษณาสินค้าอยู่แล้ว เพราะผู้ชมทั่วไปใครจะสามารถไปหาซื้ออาวุธปืนกันได้ง่ายๆ อย่างนั้น และที่สำคัญ ขณะที่ประชาชนทั่วประเทศถูกเบลอร์ภาพ “อาวุธ” จากหน้าจอโทรทัศน์อยู่ชั่วนาตาปี แต่ทุกๆ วันเด็ก เรากลับนำอาวุธสงครามเหล่านั้นมาแสดงโชว์อวดเด็กๆ อย่างใกล้ชิดจนถึงขนาดให้จับต้องได้เสียด้วยในบางครั้ง ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราจะปกปิดภาพอาวุธด้วยการเบลอร์ภาพในจอโทรทัศน์ไปทำไมกัน? แต่นั่นก็ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ผมคงได้แต่ถามๆ ไปยังงั้น โดยไม่คาดหวังว่าจะได้รับคำตอบอะไรจริงๆ จังๆ แต่อย่างใด ภาพ...ภาพเขียนที่ถูกปลดออกจากอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ