จ.พะเยา – "เอ๊ด อังกะลุง" สร้างท่า - กำกับโน้ต, คอร์ด อังกะลุง ให้ผู้สูงอายุเรียน ป้องกันและบำบัดความจำเสื่อมและโรคซึมเศร้าในวัยชรา วันนี้ ( 2 มิถุนายน 2562 ) ที่อาคารธรรมราชานุวัตร วัดศรีโคมคำ ( วัดพระเจ้าตนหลวง ) อ.เมือง จ.พะเยา กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่สนใจเรียนอังกะลุง ในเมืองพะเยาพากันมาเรียนและฝึกซ้อมกันเป็นจำนวนมาก โดยมี “ครูเอ๊ด อังกะลุง” หรือ นายพัฒนา สุขเกษม อดีตข้าราชการครูบำนาญ วัย 72ปีเ ป็นผู้ฝึกสอน ครูเอ๊ด - นายพัฒนา สุขเกษม เปิดเผยว่า หลังจากที่ตนเองเกษียณฯ เมื่อปี 2551 ก็พยายามจะคิดหาวิธีที่จะช่วยเหลือเพื่อในวัยเกษียณหรือผู้สูงอายุ เพราะช่วงนี้จะมีความเครียด เหงา เศร้าซึม และความจำเสื่อม จึงคิดว่าดนตรีน่าจะดีที่สุด และได้คำตอบที่ตกผลึกแล้วว่าดนตรีที่จะสามารถตอบโจทย์ทั้งหมดได้คือ "อังกะลุง" แต่เนื่องจากการที่จะเรียนให้สนุกและจำโน้ตต่างๆได้ จึงได้คิดประดิษฐ์ท่าทางแทนตัวโน้ตและคอร์ดขึ้น ใช้เวลาทดลองและฝึกฝนด้วยตนเองจนชำนาญและนำออกเผยแพร่ในปี 2552 จนปัจจุบัน ครูเอ๊ดกล่าวต่อไปว่า ตนเองไม่ได้สอนแค่ดนตรีหรืออังกะลุง ก่อนจะเรียนอังกะลุงทุกๆครั้งต้องมีการเตรียมพร้อมทางสมอง กล้ามเนื้อมือ กล้ามเนื้อตาก่อน ซึ่งตนก็คิดค้นท่าและวิธีการฝึกขึ้นมาเองทั้งหมด จากนั้นก็เป็นการไล่บันไดเสียงและไล่คอร์ด เมื่อทบทวนจนทุกคนพร้อมแล้วจึงจะเริ่มสอน หรือขึ้นเพลงใหม่ ซึ่งเพลงที่เล่นก็ใช้วิธีการโหวตว่าอยากจะเล่นเพลงอะไร หรือบางทีครูเอ๊ดก็จะเขียนโน้ตเพลงที่กำลังฮิตมาใช้เล่น แต่เพลงที่นิยมนำมาเล่นและคนชื่นชอบมากที่สุดคือ กว๊านพะเยา กุหลาบเวียงพิงค์ และไทยดำรำพัน เป็นต้น ซึ่งจะมีทั้งบรรเลงและมีนักร้องเข้าคู่ และนักเรียนที่มาเรียนก็มีตั้งแต่เด็กระดับประถมศึกษา ไปจนถึงอดีตข้าราชการในวัยเกษียณ ด้าน นายดิถดนัย ทาทาน อายุ 17 ปี ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่สนใจการเล่นอังกะลุง และพึ่งเข้าเรียนวันแรก เผยว่า รู้สึกสนุกกับการเรียนภาษามือแทนตัวโน้ตและคอร์ดของครูเอ๊ด แม้ตนเองจะเป็นนักดนตรีของโรงเรียนผ่านการแสดง ประกวดมาแล้วมากมาย แต่ยังไม่เคยได้เรียนหรือเห็นการกำกับโน้ตแบบที่เรียนกับครูเอ๊ดทำ แต่สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดคือ ครูเอ๊ดสามารถสอนคนที่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องดนตรีเลย ให้เล่นอังกะลุงได้ภายในเวลาไม่กี่นาที "หลังเสร็จสิ้นการเรียน การซ้อม ทุกคนก็นำอาหาร ผลไม้ ตั้งวงนั่งทานข้าวถามสารพัดทุกข์สุกดิบกันและกัน ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นกุศโลบายของครูเอ๊ดที่ต้องการให้ผู้สูงอายุ ได้มีเพื่อน ได้มีสังคม ไม่ต้องรู้สึกหว้าเหว่ เครียด เศร้าซึม และรู้ว่าสึกว่าตัวเองมีคุณค่า ผมคิดว่าอย่างนั้นนะครับ" นายดิถดนัย กล่าวสรุปทิ้งท้าย