กรมฝนหลวงฯ เดินหน้าขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรประสบภัยแล้ง เติมน้ำเขื่อน วอนประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด วันที่ 31 พ.ค.62 นายสุรสีห์ กิตติมณฑลอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่าจากผลการปฏิบัติการฝนหลวง เมื่อวันที่ 30 พ.ค.62 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 5 หน่วยฯ ได้แก่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรี กาญจนบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา และจันทบุรี ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง บรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ ยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตร พื้นที่ประสบภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคบางส่วนของ จ.มหาสารคาม นครราชสีมา ลพบุรีอ่างทอง สระบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี และกาญจนบุรี รวมถึงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน ลำมูลบน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำห้วยท่าเดื่อ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางใน จ.มหาสารคาม ขณะที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.จันทบุรี ไม่มีฝนตกจากการขึ้นปฏิบัติการ เนื่องจากลุ่มเมฆในพื้นที่เป้าหมายไม่สามารถพัฒนาตัวต่อเป็นเมฆฝนได้ สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 31 พ.ค.62 โดยปัจจุบันพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ออกประกาศ ยังคงมีจำนวน 8 จังหวัด (รวม 18 อำเภอ 65 ตำบล 470 หมู่บ้าน) โดยในวันนี้มีการประกาศเพิ่ม จ.พิจิตร เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งและทำการยกเลิก จ.ร้อยเอ็ด ด้านสถานการณ์น้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ แม้ขณะนี้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแต่ยังคงมีเขื่อน/อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อยกว่า 30% ประกอบด้วย เขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 19 แห่ง และเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 199 แห่ง ซึ่งกรมฝนหลวงฯ จะเฝ้าระวังติดตามและเร่งปฏิบัติการทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย และขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันรณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัด พื้นที่ภาคเหนือจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 81% (ร้องกวาง) 87% (อมก๋อย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 79% (ร้องกวาง) 91% (อมก๋อย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.2 (ร้องกวาง) 0.7 (อมก๋อย) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.เชียงใหม่ และหน่วยปฏิบัติการฯ จ.พิษณุโลก จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีสภาพอากาศเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการในทันที พื้นที่ภาคกลาง ผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จ.นครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 80% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 78% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 0.0 หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ลพบุรี จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการบริเวณพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค อ.พยุหะคีรี ชุมแสง เก้าเลี้ยว บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ และ อ.ชัยบาดาล ท่าหลวง สระโบสถ์ พัฒนานิคม หนองม่วง จ.ลพบุรี ด้านหน่วยปฏิบัติการฯ จ.กาญจนบุรี ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีสภาพอากาศเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการในทันที พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 93% (บ้านผือ) 84% (พิมาย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 76% (บ้านผือ) 80% (พิมาย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.4 (บ้านผือ) -0.4 (พิมาย) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ขอนแก่น จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการ เพื่อเติมน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ด้านหน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครราชสีมา จึงตัดสินใจปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคบริเวณ อ.สูงเนิน เฉลิมพระเกียรติ เมืองนครราชสีมา โชคชัย โนนสูง โนนไทย จ.นครราชสีมา และอ.พยัคฆภูมิพิสัย เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม พื้นที่ภาคตะวันออก ผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 59% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 68% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -3.4 หน่วยปฏิบัติการฯ จ.จันทบุรี จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) พื้นที่การเกษตรบริเวณอ.โป่งน้ำร้อน สอยดาว จ.จันทบุรี และพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากฝนตก ทำให้ไม่สามารถทำการตรวจสภาพอากาศได้ และสถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 75% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 66% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -2.4 หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สุราษฎร์ธานี จึงตัดสินใจปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช และอ.ดอนสัก บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี รวมถึงเติมน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สงขลา จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง ป่าพรุบาเจาะ และพื้นที่ต้นน้ำป่าพรุ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส และพื้นที่การเกษตรบริเวณ อ.ควนเนียง หาดใหญ่ เมืองสงขลา สะเดา เทพา จ.นราธิวาส และ อ.ป่าพะยอม ควนขนุน เมืองพัทลุง เขาชัยสน บางแก้ว ปากพะยูน กงหรา จ.พัทลุง และหน่วยปฏิบัติการฯ หัวหิน ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากสภาพอากาศเหมาะสม จะขึ้นบินปฏิบัติการในทันที อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ไฟป่าหมอกควัน พายุลูกเห็บ และภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทั้งนี้ สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคของประเทศ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์/เพจFacebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร