สทนช. เตรียมเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศ จีน-ลาว แลกเปลี่ยนข้อมูลอุทกวิทยาแม่น้ำโขง เพื่อการบริหารจัดการน้ำระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ป้องน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดริมโขงช่วงฤดูฝนนี้ เมื่อวันที่ 31 พ.ค.62 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำโขงเป็นลุ่มน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศ สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำโขงในจีนและลาว จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์น้ำในภาคอีสานของประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หากในสองประเทศดังกล่าวมีฝนตกหนัก ไปจนถึงจำเป็นต้องปล่อยระบายน้ำจากเขื่อนในแม่น้ำโขง ประกอบกับการละลายของหิมะลงสู่แม่น้ำของประเทศจีน จะส่งผลให้ลำน้ำโขงในบริเวณของประเทศไทยเกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งได้ โดยที่ผ่านมาบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่ติดกับริมแม่น้ำโขง เคยได้รับผลกระทบดังกล่าวจนเกิดภาวะปัญหาน้ำท่วมหนัก ดังนั้น การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอุทกวิทยาระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะเป็นกลไกในการบริหารจัดการน้ำโขงของไทยให้ดีขึ้น และทำให้สามารถประเมินสถานการณ์ เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงหน้าได้ ที่ผ่านมาแม้ว่าไทยจะมีการทำงานและเชื่อมโยงข้อมูลกับประเทศต้นน้ำโขง คือ จีน ภายใต้การทำความตกลงระหว่างกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน กับ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ซึ่งใน MOU ดังกล่าวฝ่ายจีนยินดีให้ข้อมูลระดับน้ำและปริมาณน้ำจากสถานีวัดน้ำ 2 แห่ง ได้แก่ สถานีจิ่งหง และสถานีหม่านอัน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน -31 ตุลาคมของทุกปี โดยจะจัดส่งข้อมูลอุทกวิทยาจากสถานีวัดน้ำทั้งสองแห่งให้แก่คณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำของประเทศสมาชิกโดยตรง รวมถึงประเทศลาวจะมีการรายงานปริมาณฝนที่ตก การระบายน้ำจากเขื่อนในประเทศลาวลงสู่โขงด้วยเช่นกัน โดยในปีนี้ สทนช. จะเริ่มเป็นผู้รับข้อมูลดังกล่าวโดยตรง โดยศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. จะนำข้อมูลไปวิเคราะห์ คาดการณ์ร่วมกับแนวโน้มสภาพอากาศ ฝน และน้ำท่า เพื่อประเมินผลกระทบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงได้ทันต่อเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำระหว่างประเทศในฤดูฝนปีนี้เกิดประสิทธิภาพและลดช่องว่างในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ในวันที่ 4-5 มิถุนายนนี้ สทนช. จะเข้าร่วมประชุมหารือการแลกเปลี่ยนข้อมูลอุทกวิทยาในฤดูน้ำมากภายใต้กรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน และในวันที่ 9-10 มิถุนายน จะเข้าร่วมในการประชุมปรึกษาหารือและติดตามการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี และหารือประเด็นการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนไซยะบุรี รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุทกวิทยาและการบริหารจัดการเขื่อนช่วงฤดูฝน ณ หลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่ง สทนช. คาดหวังว่า การประชุมทั้งสองครั้งดังกล่าวจะทำให้การบริหารจัดการอุทกภัยของลุ่มน้ำในประเทศและลุ่มน้ำระหว่างประเทศ มีข้อมูลที่เพียงพอ สามารถนำมาใช้งานร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ทั้งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงมากขึ้นด้วย “แม่น้ำโขงถือเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างมาก รวมถึงปริมาณของน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านมาจากประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศต้นน้ำ และลาว ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าแม่น้ำโขงไม่ได้ไหลผ่านประเทศไทยโดยตรง แต่ก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานการณ์น้ำของไทย โดยที่ผ่านมา ได้มีการแลกเปลี่ยนหารือเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และด้วยขณะนี้ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ช่วงของฤดูฝนที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเป็นทางการแล้ว ดังนั้น สทนช. ซึ่งกำลังดำเนินการเตรียมพร้อมรับมือการสถานการณ์น้ำหลากปี 2562 อย่างรอบด้าน จึงจำเป็นต้องเร่งขับเคลื่อนงานเชิงรุกเพื่อเตรียมการรองรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ในลุ่มแม่น้ำโขง” นายสมเกียรติ กล่าว