“กฤษฎา” ชี้ข้อได้เปรียบประเทศไทย เร่งพลิกฟื้นพื้นที่เกษตร149ล้านไร่ สร้างศักยภาพผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ก้าวเป็นมหาอำนาจทางอาหารของโลกได้ ย้ำมาตรการประกัน-จำนำ ทำภาคเกษตรไม่เข้มแข็ง ให้น้อมนำแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ในหลวง ร.9 ปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตรไทย เมื่อวันที่ 31 พ.ค.62 นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ศักยภาพการเกษตรของประเทศ สามารถปรับโครงสร้างภาคการเกษตรให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงร.9 แล้ว ประเทศไทยก็สามารถเป็นมหาอำนาจทางอาหารหรือเป็นครัวของโลก (Kitchen of the World)ได้เพราะประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศรวมทั้งภูมิประเทศเหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรมดีกว่าประเทศอื่นๆ รวมทั้งคนไทยยังมีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถทำครัวหรือทำอาหารเก่งอยู่แล้ว ในโลกปัจจุบันเป็นยุคแม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่สมัยใหม่ ทำให้โลกมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วจนทำให้อาชีพหรือกิจการหลายประเภทต้องสลายหายไป แต่การผลิตอาหารให้มนุษย์ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยชนิดไหนหรืออุตสาหกรรมใดมาทดแทนอาหารการกินของมนุษย์ได้ ผมได้เขียนแผนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรด้วยตนเองในฐานะลูกเกษตรกรทำสวนที่อ.แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งไม่ว่าทั้งรัฐบาลใหม่หรือรัฐมนตรี และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จึงต้องใช้งานการทำเกษตรกรรมของประเทศไทยที่เป็นจุดเด่นหรือข้อได้เปรียบของประเทศไทยนี้ให้เป็นกลไกพื้นฐานในการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็งและสามารถก้าวไปแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ไม่แพ้ประเทศอุตสาหกรรมหรือประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแต่อย่างใด ประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างภาคเกษตรใหม่ โดยมีแผนการผลิตสินค้าเกษตรแต่ละชนิด สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ไม่ปล่อยเกษตรกรทำเกษตรกรรมตามยถากรรมเหมือนเดิม ซึ่งอาชีพเกษตรกรรมมีรายได้น้อยกว่าผู้มีอาชีพอื่น การที่รัฐบาลในอดีตมักชอบใช้การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำด้วยการออกมาตรการพยุงราคาสินค้าโดยใช้งบประมาณจำนวนมากมาซื้อผลผลิตทางการเกษตรในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดหรือมาตรการประกันราคาผลผลิตทั้งการใช้งบประมาณมารับจำนำผลผลิตเพื่อจะทำให้ราคาผลผลิตสูงขึ้นนั้น สำหรับในยุคปัจจุบันการใช้มาตรการแทรกแซงด้านราคาผลผลิตการเกษตร จะไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว เพราะสินค้าเกษตรไทยมีต้นทุนการผลิตที่สูง และยังไม่ได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในภาคเกษตรแทนแรงงานมนุษย์อย่างแพร่หลายมากนัก ในขณะที่อำนาจต่อรองของเกษตรกรไทยก็ต่ำเพราะส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยไม่ได้รวมกันเป็นแปลงใหญ่ ประกอบกับสถาบันเกษตรกรทั้งสหกรณ์การเกษตรหรือสภาเกษตรกรก็ยังมีบทบาทน้อยในการช่วยเหลือดูแลเกษตรกรในการประกอบอาชีพแบบครบวงจรตั้งแต่เริ่มต้นลงมือทำการเกษตรจนถึงการจำหน่ายผลผลิตออกสู่ตลาด ทั้งนี้ แนวทางการปรับโครงสร้างการผลิตทางเกษตรของไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวทางไว้ในช่วงที่ได้ทรงงานด้านเกษตรกรรมตั้งแต่การจัดระบบน้ำชลประทานเพื่อการเกษตร การปรับคุณภาพดินและการเลือกทำการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เรียกว่า “โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามพระราชดำริ” ที่ทรงแนะนำให้เกษตรกรแบ่งพื้นที่การเกษตรออกเป็นส่วนๆให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม คือพื้นที่สำหรับทำเป็นแหล่งเก็บน้ำ พื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ทำการปศุสัตว์และพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยในอัตราส่วน 30:30:30:10 ซึ่งแนวทางการบริหารภาคการเกษตรตามโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามพระราชดำรินี้ กระทรวงเกษตรฯ สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางแบ่งพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศจำนวน 149 ล้านไร่ได้โดยจัดแบ่งพื้นที่ (Zoning)การเกษตรของประเทศได้ตามอัตราส่วนดังกล่าวโดยกระทรวงเกษตรฯจะต้องวางแผนการทำเกษตรกรรมให้เกษตรกรด้วยว่าพื้นที่ไหนจะทำการเกษตรอะไร หรือชนิดไหน จำนวนเท่าไหร่ และจะแบ่งส่วนไหนทำเป็นแหล่งน้ำหรือพัฒนาระบบชลประทานและจะแบ่งส่วนไหนเก็บไว้เป็นที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงให้แก่เกษตรกรที่จะไม่ขาดทุนในการประกอบอาชีพก็ต้องทำความเข้าใจให้การเกษตรกรรู้จักเลือกทำการเกษตรแบบผสมผสานหรือทำเกษตรเพื่อเลี้ยงครอบครัวก่อนที่เรียกว่า การปลูกพืชสวนครัว รั้วกินได้ หรือเลือกทำการเกษตรที่มีมูลค่าสูงหรือการเกษตรคุณภาพสูง(Premiun)เช่นการทำเกษตรกรรมที่ไม่ใช้สารเคมีหรือสินค้าปลอดภัย(GAP)หรือเกษตรอินทรีย์(Organic)ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดและมีราคาดี เป็นต้น “ปัจจัยสำคัญจะปรับโครงสร้างการผลิตในภาคเกษตรไทย ได้สำเร็จ กระทรวงเกษตรฯ จะต้องไม่ทำหน้าที่เพียงแค่ไปส่งเสริมหรือแนะนำให้เกษตรกรให้ทำการเกษตรอย่างเดียว จะต้องปรับโครงสร้างหน่วยงานของตนเองทำหน้าที่อย่างครบวงจรของภาคการผลิต เช่นสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานทูตเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ เพื่อทำหน้าที่ประสานงานหรือเจรจากับกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนเกี่ยวกับความต้องการ (Demand) ก่อนที่จะมาแนะนำหรือส่งเสริมให้เกษตรกร เมื่อทราบข้อมูลความต้องการของตลาดจากกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนแล้ว กระทรวงเกษตรฯ จะต้องนำมาจัดทำเป็นแผนการผลิตพืช -ปศุสัตว์-ประมงแต่ละชนิดในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมตรงความต้องการของตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศด้วย”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์