การทำเกษตรผสมผสาน ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโดยลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของรายได้ ปลูกไม้ผล พืชผักสวนครัวหลากหลายชนิด จัดสรรพื้นที่ตรงความต้องการในครัวเรือน ทำให้มีรายได้ในครัวเรือนหมุนเวียนและสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ ค่าใช้จ่ายลดลง รวมทั้งลดการพึ่งพิงปัจจัยการผลิตภายนอก ดังเช่น นายวิทยา ชูแก้ว หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านหนองบ่อ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง เกษตรกรผู้ทำการเกษตรแบบผสมผสาน นางสาวนภา มาลัยสนั่น นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ กล่าวว่า แต่เดินพื้นที่ของนายวิทยา ชูแก้ว ในแต่ละปีจะมีน้ำจะท่วม 2-3 ครั้ง ทางสถานีพัฒนาที่ดินตรังก็ได้เข้ามาแนะนำให้เก็บตัวอย่างดินไปตรวจและพบว่าดินมีค่า pH เป็นกรดเล็กน้อย การที่ดินมีค่า PH ความเป็นกรดต่ำ ส่งผลให้ดินไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งถ้าหากพืชเจริญเติบโตในดินที่มีค่าความเป็นกรดต่ำเกินไป ใบก็จะเหลือง เนื่องจากไม่สามารถดูดธาตุเหล็กเข้าไปบำรุงต้นได้อย่างเต็มที่ จึงแนะนำพี่วิทยาให้ใช้โดโลไมด์ ในการปรับปรุงดิน และใช้สารชีวภัณฑ์ของทางสถานีพัฒนาที่ดิน ใช้น้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยหมัก ในแปลงเกษตร อีกทั้งทางสถานีพัฒนาที่ดินตรัง ยังช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการทำเกษตรผสมผสาน และคอยเป็นพี่เลี้ยงลงพื้นที่ดูแลเกษตรกรอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกษตรมีแรงจูงใจที่จะหันมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเพาะปลูกและทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบ การทำเกษตรอินทรีย์ จะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต นำของเหลือใช้ภายในพื้นที่มาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ นับว่าเป็นการเพิ่มผลผลิตที่ปราศจากสารเคมี ของเกษตรกรอีกทางหนึ่งทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลผลิตที่ได้ปลอดภัยจากสารเคมีอย่างแน่นอน นายวิทยา ชูแก้ว หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านหนองบ่อ กล่าวว่า แรกๆ ตนเองไม่ได้สนใจในอาชีพเกษตรกรเลยทั้งที่ครอบครัวประกอบอาชีพในการทำสวนอยู่แล้ว จนกระทั่งได้รู้จักเจ้าหน้าที่จากสถานีพัฒนาที่ดินตรังท่านหนึ่งที่เข้ามาส่งเสริมเกี่ยวกับการทำน้ำหมักชีวภาพ จึงมีความสนใจและหันเหมาทำเกษตรและติดต่อปรึกษาขอข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่อยู่เรื่อยๆ จนตอนนี้ได้ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทั้งหมด ปัจจุบันเราก็มีตลาดมีบูธของตัวเองที่ตลาด และมีเพจ Facebook ชื่อว่า บ้านสวนคุณยาย ลูกค้าบางส่วนก็ติดตามจากทางเพจ ตอนนี้รายได้ก็เพิ่มขึ้นปกติจากเดิม 15-20 เท่า จากที่ได้ 1000 ก็เป็น1500 –2000 บาท ราคาขายจากที่ประมาณกิโลกรัม 10 บาท ก็เพิ่มขึ้นประมาณกิโลกรัมละ 20-30บาท พื้นที่การทำการเกษตรของ พี่วิทยา มีการปลูกพืชผักหลากหลายชนิด ทั้ง ทุเรียน มังคุด ลองกอง พริก มะนาว พริกไทย ผักเหลียง ผักขาไก่ ไผ่ ระหว่างรอไม้ผลก็มีรายได้จากการเก็บพริกและพืชผักสวนครัวไปขาย แปรรูปหน่อไม้ต้มและแพ็คขาย อยากกินอะไรในสวนก็มี ถ้าไม่มีก็ปลูก เหลือจากบริโภคในครัวเรือนก็นำไปจำหน่าย จากแนวคิดการทำเกษตรของพี่วิทยาและการเข้ามาส่งเสริมของสถานีพัฒนาที่ดินตรัง ส่งผลให้วันนี้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ผลผลิตงอกงาม ทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ของพี่วิทยาเองก็ดีขึ้น นับว่าเป็นการพัฒนาพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน