ความวุ่นวายภายในวัดหิรัญยาราม หรือ วัดหลวงพ่อเงินบางคลาน ยังคงเป็นมหากาพย์ที่ยาวนานมากว่า 5 ปี จนถึงวันนี้ยังวุ่นวายไม่เลิกเป็นคดีความขึ้นศาลนับสิบคดี ล่าสุดบังคับคดีปฏิบัติถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อจะเข้าตรวจสอบทรัพย์สินและโบราณวัตถุรวมถึงวัตถุมงคลเพื่อส่งมอบให้รักษาการเจ้าอาวาสที่มาโดยถูกต้องตามกฎหมายแต่ปรากฏว่าต้องคว้าน้ำเหลวอีกครั้งเมื่อกลุ่มลูกศิษย์ ของอดีตเจ้าอาวาสรวมตัวขัดขวางไม่สนใจกฎหมาย สุดท้ายบังคับคดีต้องล่าถอยแนะนำโจทก์ คือ รักษาการเจ้าอาวาสทำรายงานส่งถึงศาลเรื่องส่อเค้าบานปลายจากคดีแพ่งอาจกลายเป็นคดีอาญา มีสิทธิ์จ่อนอนคุกยาวแน่ วันที่ 30 พ.ค. 2562 นายเสฏฐวัฒน์ ไชยภักดี นิติกรชำนาญการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วย นายกิติศักดิ์ แก้ววิเชียร ผอ.กลุ่มคุ้มครองพระพุทธศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พร้อมด้วย กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง รวมแล้วกว่า 50 นาย ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยถือคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5558/2561 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ความแพ่ง ซึ่งมี พระครูพิสุทธิวรากร ( วิทยา ศักดิ์ดี ) รักษาการเจ้าอาวาสวัดบางคลาน เป็นโจทก์ และมี พระครูวิสิฐสีลาภรณ์ ( สฤษดิ์ จุ้ยเทศ ) อดีตเจ้าอาวาสวัดหิรัญญาราม หรือ วัดหลวงพ่อเงินบางคลาน เป็นจำเลยที่ 1 และพวก อีก 9 คน รวมเป็นจำเลยทั้ง 10 คน ที่ถูก พระครูพิสุทธิวรากร รักษาการเจ้าอาวาสวัดบางคลาน เป็นโจทก์ฟ้องในคดีแพ่ง เนื่องจากอดีตรักษาการเจ้าอาวาสได้ถูกคำสั่งให้พักจากตำแหน่งหน้าที่และจะต้องส่งมอบการครอบครองทรัพย์สิน การเงิน การบัญชี ทะเบียนพัสดุครุภัณฑ์ พร้อมหลักฐานการก่อสร้างและวัสดุให้แก่โจทก์ ก็คือรักษาการเจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อเงินบางคลาน แต่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 คือ อดีตเจ้าอาวาสและพวกลูกศิษย์ ซึ่งมีทั้งที่เป็นกรรมการวัดและมิใช่กรรมการวัดต่างรวมตัวกันขัดขวางและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ จนมีการต่อสู้คดีจนถึงศาลฎีกา โดยศาลฎีกาได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คือ พระครูวิสิฐสีลาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดหิรัญญาราม หรือ วัดหลวงพ่อเงินบางคลาน ว่าให้ต้องส่งมอบสมุดคลุมบัญชีทรัพย์สิน รายรับ-รายจ่าย – พัสดุเอกสาร –สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร – บัญชีการจำหน่ายวัตถุมงคลของวัดหิรัญญาราม หรือวัดหลวงพ่อเงินบางคลาน โดยต้องให้ส่งมอบทั้งหมดแต่โจทก์ห้ามจำเลยทั้งสิบขัดขวางการดำเนินการกิจการของวัดและกิจการคณะสงฆ์ ห้ามเปิดตู้บริจาคใช้เงินทุกตู้ และห้ามยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของวัดจากรายได้ หรือ กิจการภายในของวัด ดังนั้นในวันนี้สำนักงานบังคับคดีและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจึงได้ถือปฏิบัติตามคำพิพากษาเพื่อจะเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สิน-วัตถุมงคลและบัญชีการเงินต่างๆ แต่ปรากฏว่าเมื่อไปถึงที่วัดหิรัญญาราม หรือ วัดหลวงพ่อเงินบางคลาน ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลบางคลาน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ก็ได้มีกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นชาวบ้าน- เป็นลูกศิษย์ของอดีตเจ้าอาวาสเกือบ 100 คน มายืนขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่บังคับคดีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้นไปยังกุฏิที่เป็นศาลาไม้และเป็นที่เก็บวัตถุมงคลและอื่นๆบนศาลาพร้อมทั้งตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่ โดยใช้คำไม่เหมาะสมต่างๆนานา พร้อมทั้งก่อความวุ่นวายส่งเสียงดังเอะอะไปหมด เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร-ฝ่ายปกครองก็ทำได้แค่ยืนดู ไม่สามารถห้ามปรามได้ เจ้าหน้าที่ของบังคับคดีพิจิตร และ ผอ.กลุ่มคุ้มครองพระพุทธศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พยายามไกล่เกลี่ยชี้แจงเหตุและผลรวมถึงข้อกฎหมายที่ถือมาปฏิบัติในครั้งนี้ว่าทำตามคำสั่งศาลแต่พวกกลุ่มต่อต้าน กลับหาเชื่อฟังไม่ยังคงทำตัวขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน โดยไม่สนใจคำสั่งของศาลฎีกาแต่อย่างใด จนในที่สุด นายเสฏฐวัฒน์ ไชยภักดี นิติกรชำนาญการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดพิจิตร ต้องประกาศยอมยกธงขาวล่าถอย เนื่องจากเกรงว่าหากจะใช้กำลังสลายฝูงชนเพื่อเข้าตรวจทรัพย์สินของวัดหลวงพ่อเงินบางคลานตามคำสั่งศาลฎีกา ก็อาจจะเป็นบ่อเกิดของความชุนละมุนวุ่นวาย อีกทั้งเกรงว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจะไม่เกิดความปลอดภัย จึงขอยุติการดำเนินการดังกล่าว โดยได้ให้สัมภาษณ์ว่า....จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะได้ทำรายงานศาลต่อไปเพื่อให้ศาลดำเนินการออกหมายเรียกจำเลยมาทำการไต่สวน ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายพิจารณาความแพ่ง ซึ่งโจทก์ก็คือ รักษาการเจ้าอาวาสวัดหิรัญญาราม หรือตัวแทน-ผู้ได้รับมอบอำนาจสามารถใช้สิทธิทางศาลได้อยู่แล้ว ดังนั้นวันนี้จึงของดทำการส่งมอบบัญชีและทรัพย์สินเนื่องจากสถานการณ์เกิดความวุ่นวายและมีผู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว เพราะหากเจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ในส่วนของ ร.ต.ท.สมชัย สุทธิสน ข้าราชการบำนาญ ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจจากรักษาการเจ้าอาวาสวัดหิรัญยารามหรือ วัดหลวงพ่อเงินบางคลาน ได้กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า จากเหตุการณ์วันนี้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าตรวจสอบทรัพย์สินได้ เนื่องจากมีผู้มาขัดขวาง อีกทั้งจำเลยที่ 1 คือ อดีตเจ้าอาวาสก็ไม่อยู่พบกับเจ้าหน้าที่บังคับคดี ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็จะได้ไปยื่นเรื่องและทำรายงานให้ศาลทราบ เพื่อจะได้ออกหมายเรียกให้มาทำการไต่สวน แต่ถ้าขัดหมายเรียกจากคดีแพ่งก็จะกลายเป็นคดีอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกดังกล่าวอีกด้วย สิทธิพจน์ พิจิตร