ทน.นครตรังขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขราคายางตกต่ำ ทุ่มงบกว่า 100ล้าน ปรับปรุงผิวจราจรพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (ผสมยางพารา) 15 สาย เพื่อให้ถนนความสวยงามและลดอุบัติเหตุ วันนี้ (30 พ.ค.62) ที่อาคารอเนกประสงค์เทศบาลนครตรัง นายอภิชิต วิโนทัย นายกเทศมนตรีนครตรัง นายแพทย์รักษ์ บุญเจริญ รองนายกเทศมนตรีนครตรัง ตัวแทนผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมวงเสวนา คุยข่าวเล่าเรื่อง ชมเมืองนครตรัง โดยมีผู้นำชุมชน สื่อมวลชน ชาวบ้านรับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง นายอภิชิต กล่าวในตอนหนึ่งว่า สืบเนื่องจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้แจ้งให้ อปท.จัดทำโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนที่มีส่วนผสมของยางพารา หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ใช้ยางพาราเป็นลำดับแรกเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราจากปัญหาราคาตกต่ำ โดยให้ อปท.รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการเรื่อยมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น มีหนังสือลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติการใช้จ่ายเงินสะสมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งจากหนังสือฉบับดังกล่าว นายอภิชิต กล่าวอีกว่า ล่าสุดสภาเทศบาลนครตรังอนุมัติจ่ายเงินสะสม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหายางพาราตกต่ำจำนวน 122,150,000 บาท ตามโครงการปรับปรุงผิวจราจรพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (ผสมยางพารา) จำนวน 15 โครงการ ประกอบด้วย ถนนสายหลังตลาดสด ถนนกันตัง ถนนห้วยยอด ถนนภายในสนามกีฬาทุ่งแจ้ง ถนนวิเศษกุล ซอย 5 ,ถนนวิเศษกุล ซอย 7 ถนนควนคีรี ถนนเลียบทางรถไฟ ถนนราชดำเนิน ถนนรัษฏา ซอย 9 ถนนรัษฎา ถนนพระรามหก ถนนน้ำผุด ถนนเจิมปัญญา และถนนภายในสวนสาธารณะสระกะพังสุรินทร์ “สำหรับโครงการพัฒนาเทศบาลนครตรังโดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนสายต่างๆไม่ได้มีการปรับปรุงพื้นผิวจราจรมาหลายปี เกิดสภาพปัญหาถนนลื่นเป็นหลุมเป็นบ่อเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุต่อผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อให้บ้านเมืองมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ป้องกันอุบัติภัยที่เกิดกับผู้ใช้รถใช้ถนน เนื่องจากการเสื่อมสภาพของถนนหลายสายที่ใช้งานมาหลายปี อีกทั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน และขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ความเดือดร้อนของภาคเกษตรกรชาวตรัง ซึ่งปลูกยางพาราเป็นอาชีพหลัก จึงเดินหน้าโครงการปรับปรุงผิวจราจรพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (ผสมยางพารา) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยการปรับปรุงถนนทั้ง 15 สายนั้น มีการสำรวจโดยช่างผู้ชำนาญการ วิเคราะห์ออกแบบอย่างเหมาะสม หากดำเนินการโครงการดังกล่าวจะใช้น้ำยางพาราประมาณ 71 ตัน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำ” นายอภิชิต กล่าว