วันที่ 29 พ.ค. 62 รองศาสตราจารย์ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อาจารย์พิเศษประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุข้อความว่า ...
หากจะเปรียบเทียบการประชุมเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม กับการประชุมเพื่อเลือกประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ก่อนหน้านั้น 1 วัน จะเห็นความแตกต่างอย่างมาก สมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้งเลือกสรรโดย คสช. จะนั่งเรียบร้อยเป็นแถวเป็นแนว นั่งเรียงหนึ่ง เว้นหนึ่ง ไม่มีการเสนอชื่ออื่นเพื่อเป็นตัวเลือกในการเลือกสรรผู้เป็นประธานวุฒิสภา ไม่มีการโต้เถียง เสนอญัตติด่วน เสนอญัตติซ้อน ไม่มีการประท้วงอ้างทำผิดข้อบังคับ ใช้เวลารวดเร็ว สมองไม่เมื่อยล้า ไม่ต้องใช้งานมาก และถ้ายังเป็นเช่นนี้ต่อไป การประชุมในอนาคตก็จะมีคนเข้าประชุมบ้าง ไม่เข้าบ้าง เพราะรู้แล้วว่าผลจะเป็นอย่างไร ปล่อยให้เขาว่ากันไป ถ้าเข้าประชุมก็ไม่จำเป็นต้องพูดอะไร ปล่อยให้คนกลุ่มอยากพูด พูด ไปเซ็นชื่อเข้าประชุมแล้วก็ไปนั่งกินกาแฟ รับประทานอาหาร สังสรรค์ พูดคุยกันดีกว่า ยิ่งประธานจัดลำดับคนพูดก่อน-หลัง 1, 2, 3, 4 ถึง 30 เมื่อเราได้พูดแล้วเป็นคนเแรกๆ ก็ไม่จำเป็นต้องฟังคนต่อๆ ไป เพราะฟังไปก็พูดโต้แย้งได้ลำบาก ผิดคิว และถ้าเราอยู่ในคิวท้ายๆ ก็รู้ว่าอีกนานจะถึงคิวพูด ก็ออกไปกินกาแฟ ทำธุระก่อนก็ได้ เมื่อถึงเวลาลงมติ ก็จะถามกันไปมาว่า "เรื่องนี้เอาอย่างไร?" แล้วก็ลงมติกันไป ถ้าพฤติกรรมเป็นเช่นนี้ เราก็จะเห็นการแสดงการอภิปรายเฉพาะของคนบางคน บางกลุ่ม ในวุฒิสภา แต่ประชาชนจะต้องจ่ายภาษีเพื่อเป็นเงินเดือน ส.ว. เงินเดือนผู้เชี่ยวชาญ เงินเดือนผู้ชำนาญการ เงินเดือน ผู้ช่วย ส.ว.อีก 5 คน สรุปแล้วปีละเกือบ 2 พันล้านบาท 5 ปี ก็เกือบหมื่นล้านบาท นี่แหละครับ ผลของการปฏิรูปการเมืองที่เราประกาศเมื่อ 5 ปี ที่แล้ว