“กฤษฏา” สั่งกรมการข้าว เร่งส่งเสริมชาวนา ลดน้ำทำนาปรังลง 50% ใช้วิธีปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ทดแทนทำนาปรังดั้งเดิมใช้น้ำมากถึงไร่ละ 1.8 พันลบ.ม.ชี้พื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทานเสี่ยงเจอฝนน้อย เมื่อวันที่ 28 พ.ค.62 นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมการข้าว เผยแพร่วิธีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการปลูกข้าวที่ไม่ต้องขังน้ำในแปลงนาตลอดฤดูเพาะปลูก มาทดแทนการทำนาปรังใช้น้ำมากถึง 1.2-1.8 พันลูกบาศก์เมตร/ไร่ ในส่วนวิธีการทำนาปรังเปียกสลับแห้ง จะปล่อยน้ำเข้าแปลงนา แล้วปล่อยให้แห้งเป็นระยะๆ ตามความต้องการใช้น้ำของต้นข้าวในการเจริญเติบโต แตกกอ ออกช่อดอก จนกระทั่งเก็บเกี่ยว โดยสามารถลดปริมาณการใช้น้ำลงได้ร้อยละ 20-50 ขึ้นอยู่กับชนิดของดินและสภาพอากาศ ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าค่าเฉลี่ยปริมาณฝนปีนี้จะน้อยคล้ายปี 2550 ซึ่งต้องเฝ้าระวังพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ที่ต้องหาน้ำไปช่วยในช่วงฝนทิ้งช่วงปลายเดือนมิ.ย.-ก.ค.ให้ผลผลิตได้เก็บเกี่ยว ทั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร กำหนดแผนการผลิตข้าว ปีการผลิต 2562/63 ตามความต้องการใช้ข้าว ในพื้นที่ 72.80 ล้านไร่ ผลผลิต 34.62 ล้านตันข้าวเปลือก แบ่งเป็น การผลิตในรอบที่ 1 พื้นที่ 58.99 ล้านไร่ ผลผลิต 25.47 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 13.81 ล้านไร่ ผลผลิต 9.15 ล้านตันข้าวเปลือก โดยรอบที่ 1 แยกเป็น ข้าวหอมมะลิ 23.03 ล้านไร่ ข้าวหอมจังหวัด 3.47 ล้านไร่ ข้าวหอมไทย 1.65 ล้านไร่ ข้าวเจ้า 14.01 ล้านไร่ (ข้าวเจ้าพื้นแข็ง 13.86 ล้านไร่ และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม 0.15 ล้านไร่) ข้าวเหนียว 16.17 ล้านไร่ และข้าวตลาดเฉพาะ 0.66 ล้านไร่ สำหรับปลูกข้าวรอบที่ 2 ในฤดูแล้ง 2562/2563 วางแผนให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง ไม่ให้ผลิตข้าวล้นตลาดเช่นปลูกถั่วเหลืองเพราะการผลิตในประเทศยังขาดแคลน โดยให้ใช้โมเดลปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์หลังทำนา ซึ่งฤดูแล้งที่ผ่านชาวนาเข้าโครงการกว่า8แสนไร่ งดทำนาปรัง ได้กำไรไร่ละ3พันบาท นับเป็นครั้งแรกของนโยบายรัฐบาล สามารถเพิ่มรายได้ให้ชาวนามากที่สุดถึง 2.4หมื่นล้านบาท โดยไม่ต้องนำงบประมาณไปแทรกแซงราคาแต่อย่างใด จากเดิมที่ภาคการเกษตร มีปัญหาผลผลิตล้นตลาดมายาวนาน เกษตรกรขายขาดทุน รัฐใช้งบประมาณมาพยุงราคา ทั้งประกัน-จำนำ ต้องใช้เงินหลายแสนล้านบาทต่อปี จนกระทบการคลังของประเทศเหมือนที่ผ่านมา