ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับ การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป หรือเอ็มอีพีเอส (MEPs : Members of the European Parliament) ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชาวสหภาพยุโรป หรืออียู ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวนกว่า 512 ล้านคน จากชาติสมาชิก 28 ประเทศ ได้เข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง เพื่อเลือกสมาชิกรัฐสภาของพวกเขา เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางบรรยากาศของประชาชาวอียูผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ ที่เป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีรายงานว่า มีผู้ไปใช้สิทธิฯ มากถึง “กว่า 350 ล้านคน” หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มากที่สุดในรอบ 20 ปี หรือ 2 ทศวรรษ เลยทีเดียว บรรยากาศการใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป ที่หน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่ง ในกรุงวอร์ซอว์ เมืองหลวงของโปแลนด์ ก็ต้องถือว่า ผิดความคาดหมายกันพอสมควร หลังจากที่ก่อนหน้า หลายฝ่ายหวั่นวิตกว่า จำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิฯ อาจจะเงียบเหงา เนื่องจากแนวโน้มการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปในช่วงที่ผ่านๆ มาว่า มีผู้ออกไปใช้สิทธิฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา “เอ็มอีพีเอส” ปรากฏว่า “พรรคประชาชนชาวยุโรป” หรือ “อีพีพี (EPP : European People's Party) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่มีแนวคิดแบบ “กลาง-ขวา” จับมือกันเป็นพันธมิตร อันมีฐานที่มั่นใหญ่อยู่ในประเทศเยอรมนี และมีนักการเมืองรุ่นใหญ่ของเยอรมนีอย่าง “นายมานเฟรด เวแบร์” เป็นผู้นำมาตั้งแต่ปี 2557 ยังคงพาผู้สมัครรับเลือกตั้งคว้าชัยชนะ ด้วยจำนวนสมาชิกรัฐสภายุโรปที่ได้ 179 ที่นั่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนในอัตราร้อยละ 23 ของจำนวนที่นั่งสมาชิกรัฐสภา “เอ็มอีพีเอส” ทั้งสิ้น 751 ที่นั่ง ก็ถือเป็นกลุ่มการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสภาจำนวนมากที่สุดอีกสมัย ตามมาด้วยกลุ่มพรรคการเมืองที่ใช้ชื่อว่า “”พันธมิตรแห่งสังคมนิยมและประชาธิปไตยก้าวหน้า” หรือ “เอสแอนด์ดี (S&D : Progressive Alliance of Socialists and Democrats)” อันมีแนวคิดแบบ “กลาง-ซ้าย” ภายใต้การนำของนักการเมืองและนักการทูตชาวเนเธอร์แลนด์ “ฟรานส์ ทิมเมอร์แมน” ซึ่งได้ที่นั่งของสมาชิกรัฐสภายุโรป จำนวน 150 ที่นั่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนในอัตราร้อยละ 20 ส่วนอันดับ 3 ตกเป็นของ “กลุ่มพันธมิตรเสรีนิยมและประชาธิปไตยเพื่อยุโรป” หรือ “เอแอลดีอี (ALDE : Alliance of Liberals and Democrats for Europe)” ได้ที่นั่งสมาชิก “เอ็มอีพีเอส” ไป 107 ที่นั่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนในอัตราร้อยละ 14 นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มพรรคพันธมิตรทางการเมืองสำคัญ ที่ได้อันดับอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มพรรคพันธมิตร “อีเอฟดีดี” หรือที่หลายคนเรียกว่า “พรรคเบร็กซิต” ภายใต้การนำของ “นายไนเจล ฟาราจ” นักการเมืองชื่อดังชาวอังกฤษ ได้ที่นั่งสมาชิกเอ็มอีพีเอสไปด้วยจำนวน 56 ที่นั่ง และอันดับ 5 ตกเป็นกลุ่มพรรคพันธมิตร “จียูอี/เอ็นจีแอล” จากสโลวีเนียและเบลเยียม ได้ 38 ที่นั่ง ส่งผลให้กลุ่มการเมืองทั้งสอง ซึ่งจับมือกันเป็นพันธมิตรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังคงสถานะได้เปรียบในฐานะกลุ่มผู้นำรัฐสภายุโรป แต่อาจจะต้องแสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มพรรคอื่นๆ จับมือเป็นพันธมิตรเพื่อครองเสียงข้างในสภา อย่างไรก็ตาม แม้ดูผิวเผินกลุ่มพรรคพันธมิตรเดิมๆ ที่มีแนวคิด “กลาง-ขวา” และ “กลาง-ซ้าย” ยังเป็นใหญ่ในสภาอียู แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปถึงตัวเลขที่นั่งของสมาชิกเอ็มอีพีเอสที่พวกเขาได้มา ก็ต้องบอกว่า “จำนวนลดลงอย่างน่าใจหายแบบฮวบฮาบ” ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพรรคพันธมิตร “อีพีพี” ที่ลดลงถึง 38 ที่นั่ง จากเดิมที่เคยได้ครั้งที่แล้ว 217 ที่นั่ง กลุ่มพรรคพันธมิตร “เอสแอนด์ดี” ลดลง 37 ที่นั่ง ซึ่งแต่ก่อนเคยได้ถึง 187 ที่นั่ง เป็นอาทิ นางมารีน เลอ เปน สวนทางกับสถานการณ์ของกลุ่มพรรคพันธมิตรที่เป็นแนวขวาจัด เสรีนิยม รวมไปถึงพรรคกรีน ที่เน้นเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ผลปรากฏว่า มีคะแนนนิยมพุ่ง จนได้ที่นั่งของสมาชิกพีอีเอ็มเอสเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มพรรคกรีน / พันธมิตรชาวยุโรปเสรี (Greens / European Free Alliance) ที่ได้สมาชิกพีอีเอ็มเอสเพิ่มขึ้นถึง67 ที่นั่ง และเมื่อนับคะแนนกันในรายประเทศ ก็ปรากฏว่า กลุ่มพรรคแนวชาตินิยมทั้งในอิตาลีและฝรั่งเศส อย่างพรรคแนวร่วมแห่งชาติ หรือเอ็นเอฟ ของนางมารีน เลอ เปน ในฝรั่งเศส พรรคเบร็กซิตของนายไนเจล ฟาราจ ล้วนคว้าชัยเหนือพรรครัฐบาลของพวกตนกันทั้งสิ้น นายไนเจล ฟาราจ บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า การรณรงค์ของกลุ่มพรรคพันธมิตรแนวคิดขวาจัดเหล่านี้ ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากทางการรัสเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้พลังขับเคลื่อนทางการเมืองทรงพลานุภาพ ถึงขนาดนักการเมืองของยุโรปหลายคน ก็ยังชู “ปูติน” เป็นธงนำในการรณรงค์กันเลยทีเดียว อย่างในรายของ “มัตโตโอ ซัลวินี” นักการเมืองของอิตาลี เป็นต้น ที่ถึงขนาดสวมเสื้อที่มีรูปภาพของปูติน ระหว่างการรณรงค์กันเลยทีเดียว นายมัตเตโอ ซัลวินี สวมเสื้อที่สกรีนรูปประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย วัตถุประสงค์ที่รัสเซียสนับสนุนต่อกลุ่มพรรคพันธมิตรแนวขวาจัดพวกนี้ ก็เพื่อหวังใช้พลังต่อต้าน “อเมริกันนิยม” และ “สหภาพยุโรปนิยม” จนเซาะบ่อนทำลายให้อียูต้องสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นกันไปมิใช่น้อย ดังปรากฏในสถานการณ์การเมืองของหลายประเทศสมาชิกอียู ที่กำลังเผชิญอยู่