พื้นที่ของ นายสัณฐิติสุข แก้วคง เกษตรกร หมู่ที่ 2 ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส จากการปลูกต้นมังคุดอย่างเดียว ได้ประสบปัญหาในเรื่องของดินขาดอิทรีย์วัตถุ เพราะใช้สารเคมีมาเป็นเวลานาน รวมทั้ง เผชิญปัญหาผลผลิตล้นตลาด ขายไม่ได้ราคา จึงหันมาศึกษาด้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีสถานีพัฒนาที่ดินนราธิวาสเป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำ และแก้ไขปรับปรุงสภาพดินให้ดีขึ้น และทำการปรับเปลี่ยนพื้นที่มาทำเกษตรผสมผสานจนกลายเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรบริเวณข้างเคียง เปิดเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน เพื่อให้คนในชุมชนและเกษตรกรทั่วไปได้เข้ามาศึกษาดูงาน และนำไปปรับปรุงพื้นที่ของตนเอง นายยงยุทธ สุวรรณ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถานีพัฒนาที่ดินนราธิวาส เปิดเผยว่า ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินของนายสัณฐิติสุข แก้วคง หรือ ลุงสุข หมอดินอาสาอำเภอสุคิรินในการก่อตั้งศูนย์ถ่ายทอด ทำการคัดเลือกเกษตรกรที่ว่ามีความสนใจในด้านพัฒนาที่ดิน ลุงสุขจึงสมัครเข้ามาเป็นหมอดินอาสาของสถานีพัฒนาที่ดินนราธิวาส หลังจากนั้นทางสถานีพัฒนาที่ดินนราธิวาส นำกิจกรรมในส่วนของการพัฒนาที่ดิน เช่น การเก็บตัวอย่างดิน การใช้สารปรับปรุงดิน หรือ โดโลไมท์ปรับปรุงดิน สาธิตการทำปุ๋ยหมักโดยใช้สารเร่งซุปเปอร์พด. 1 น้ำหมักชีวภาพโดยใช้สารเร่งซุปเปอร์พด. 2 ทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้ในพื้นที่แปลงเกษตรของลุงสุข นอกจากนี้เกษตรกรที่สนใจในด้านการพัฒนาที่ดินได้เข้ามาศึกษาดูงาน ลุงสุขจะเป็นผู้ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรที่สนใจและก็นำความรู้มาสู่ชุมชน ในพื้นที่ของตำบลภูเขาทอง ด้าน นายสัณฐิติสุข แก้วคง เกษตรกร หมู่ที่ 2 ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส กล่าวว่า ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในชุมชน เพื่อให้เกษตรกรในชุมชนเกิดความสนใจและเห็นถึงผลต่างที่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน ซึ่งเกษตรกรที่ได้มาเรียนรู้ จะได้รับองค์ความรู้เรื่องของการเกษตร การพัฒนาที่ดิน เพราะเป็นหมอดินตั้งแต่ปี 2538 ที่ได้ไปอบรมด้านหมอดินโดยเฉพาะ ในเรื่องของการปรับปรุงดิน ดินจืด ดินกรด ดินเปรี้ยว ดินต่างๆ แก้ปัญหาเรื่องดิน เพื่อเตรียมการปลูกพืชผสมผสาน หรือปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก พื้นที่ของผมทางด้านหลังจะเป็นไม้ผล เช่น มังคุด สะตอ ทุเรียน ลองกอง ผสมผสานกันไป ส่วนในเรื่องของการลดต้นทุน จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง โดยใช้สูตรของทางสถานีพัฒนาที่ดินนราธิวาส เช่น สารเร่งซุปเปอร์พด.1 2 3 นำมาในการทำปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ส่วนผสมก็จะมีมูลสัตว์ต่างๆ และวัสดุทเหลือใช้ในพื้นที่ เช่น แกลบ ขี้เลื่อย เศษใบไม้ ใบหญ้า ที่เราสามารถนำมาประกอบทำปุ๋ยคุณภาพสูงได้ ซึ่งเป็นการทำการเกษตรที่ปลอดสารพิษ และชาวบ้านที่ได้มาเรียนรู้ก็ประทับใจ จำนำกลับไปใช้แล้วขยายผลต่อ ทั้งนี้ เกษตรกรในชุมชนตำบลภูเขาทอง ได้นำองค์ความรู้จาก นายสัณฐิติสุข แก้วคง ไปพัฒนาเปิดเป็น วิสาหกิจชุมชนปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพตำลบภูเขาทอง ที่เกิดแนวคิดในการผลิตปุ๋ยใช้เองในครัวเรือน เพื่อเป็นการลดต้นทุน จึงได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำจากสถานีพัฒนาที่ดินนราธิวาส ซึ่งการดำเนินการกิจกรรมของกลุ่มจะไม่เน้นผลกำไร แต่เน้นให้สมาชิกและคนในชุมชนมีการลดต้นทุนการผลิต และหันมาทำเกษตรอินทรีย์