จากพื้นที่ของนายสุวิทย์ เพชรเกลี้ยง หมู่ที่ 2 ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ทำนาเป็นหลัก และประสบปัญหาด้านการเกษตร ด้านราคาผลผลิตตกต่ำ ซึ่งปุ๋ยเคมีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนในการผลิตสูง ทางสถานีพัฒนาที่ดินนราธิวาสจึงเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนทางด้านความรู้ในการปรับปรุงบำรุงดิน โดยการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพและการใช้ปุ๋ยพืชสด เพื่อปรับปรุงบำรุงดินให้ดีขึ้น นายชัยรัตน์ พูลเทพ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถานีพัฒนาที่ดินนราธิวาส กล่าวว่า ในพื้นที่ของเกษตกรมีดินอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ ซึ่งดินด้านบนเป็นดินดอน หรือ ดินทราย จะมีลักษณะที่ว่าขาดความอุดมสมบูรณ์ กักเก็บน้ำไม่อยู่และธาตุอาหารต่ำ ส่วนดินล่างเป็นดินเหนียว ลักษณะเป็นดินที่แน่นทึบ ระบายน้ำได้ไม่ดี เหมาะแก่การทำนาได้อย่างเดียว ซึ่งสถานีพัฒนาที่ดินนราธิวาสได้เข้ามาส่งเสริมเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ตามความเหมาะสมและการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันส่งผลให้ปลูกพืชได้ผลผลิตดีขึ้น ส่วนการลดต้นทุนในการผลิต ท้องถิ่นของเกษตรกรมีวัสดุมากมาย ในการนำมาเป็นปุ๋ยหมัก ไม่ว่าจะเป็น ฟางข้าว ซังข้าวโพด ทะลายปาล์ม แกลบ หรือ เศษใบไม้ใบหญ้า นำมาหมักเป็นปุ๋ยหมัก และนำไปใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน โดยการนำมาหมักกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 หลังจากหมักแล้วก็จะมีสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ในการหมักเพื่อทำเชื้อควบคุมสาเหตุโรครากเน่าโคนเน่า ปัจจุบันเกษตรกรได้มีการรวมกลุ่มตั้งเป็น "กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์บ้านตะปัง" โดยการทำปุ๋ยหมักและน้ำหมัก กันเอง ซึ่งวัสดุหลักในส่วนผสมนั้น เกษตรกรแต่ละครัวเรือนจะรวบรวมกันมา เพื่อลดต้นทุนการผลิตและช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิกในกลุ่ม และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ยังช่วยในการรักษาหน้าดินให้อุดมสมบูรณ์พร้อมในการเพาะปลูกครั้งต่อไป ด้าน นายสุวิทย์ เพชรเกลี้ยง เกษตรกร ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ตอนนั้นมีการดำเนินโครงการหมอดินอาสาเกิดขึ้น ทางกรมพัฒนาที่ดิน จัดให้มีหมอดินอาสาทุกหมู่บ้าน จัดกิจกรรมอบรมแก่หมอดินอาสาให้เกิดความรู้หลายๆ อย่าง เกี่ยวกับการทำปุ๋ยหมัก การนำวัตถุดิบภายในพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ การปรับโครงสร้างในสภาพดิน ไม่ว่าจะเป็นดินนา ดินสวน ดินปลูกผัก และการลดค่าใช้จ่ายลง เพิ่มรายได้ให้พี่-น้องในหมู่บ้าน ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มกัน โดยขัดตั้งเป็นกลุ่มจัดทำปุ๋ยหมัก แรกๆ ผลิตเป็นปุ๋ยหมัก ปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง เพื่อเพิ่มคุณภาพของปุ๋ยให้ดียิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของเกษตรกร กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มตรวจสอบสภาพดิน โดยการนำดินมาวิเคราะห์ ว่าดินของเกษตรกรแต่ละพื้นที่มีปัญหาอะไรบ้าง เกษตรกรสามารถนำปุ๋ยหรือวัสดุปรับปรุงบำรุงดิน ไปใช้ให้ถูกกับสภาพของดินที่เกิดปัญหา ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับโรคพืช ซึ่งจะนำเกษตรกรที่เกิดปัญหาในพื้นที่ของตนเอง ไปศึกษาเกี่ยวกับการทำสารไร่แมลง การไปจัดทำเคมีพันธ์ที่ป้องกันเกี่ยวกับโรคต่างๆ และกลุ่มที่ 4 กลุ่มนาข้าว โดยการเช็คสภาพพื้นที่ของเกษตรกรว่าสมควรปลูกข้าวพันธุ์อะไร เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพดิน ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมทางดินดีขึ้นกว่าเดิม ในเรื่องของการอนุรักษ์รักษาทรัพยากรดินที่ผ่านมา พี่-น้องเกษตรกรไม่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์ของดิน ไม่ว่าจะเป็นการเผาวัสดุ การเผาตอซังหรือการเผาหญ้า ส่งผลให้จุลินทรีย์หรือว่าสัตว์ผิวดินมันจะตายไป เกษตรกรจึงเห็นความสำคัญของดินจึงหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ให้กับดิน คืนชีวิตให้กับดิน ทำให้ดินมีความร่วนซุยมีคุณภาพดียิ่งขึ้น ลดการใช้สารเคมีลงสักนิดและหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อการเกษตรของเราต่อไป "กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์บ้านตะปัง" ได้มีการถ่ายทอดความรู้ให้กับกลุ่มหรือให้กับพี่-น้องเกษตรกร ที่ประสบความเดือดร้อน โดยการขับเคลื่อนให้ความช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาเบื้องต้นให้กับเกษตรกร ทางสถานีพัฒนา ที่ดินได้เข้ามาเป็นลักษณะบูรณาการร่วมกัน โดยการความรู้ทางด้านวิชาการและทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำปุ๋ยหมัก น้ำหมัก การปลูกพืชผักโดยไม่ใช้สารเคมี เป็นการลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพผลผลิตอย่างปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค