การปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรของนายพัฒนา ทองขาวเผือก เกษตรกรบ้านคลองขามเหนือ ต.ควนเมา อ.รัษฎา จ.ตรัง ซึ่งได้ปรับพื้นที่จากการปลูกยางพาเป็นหลัก และประสบปัญหาราคายางตกต่ำ มาปลูกฝรั่งบนพื้นที่กว่า 8 ไร่ จนประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถที่จะต่อยอดปลูกขายได้ราคาดี และไม่ต้องกังวลเรื่องหาตลาด เพียงแค่วางขายไว้หน้าบ้าน ก็มีลูกค้าประจำมารับซื้อไปจนหมดทุกรอบ โดยระหว่างปรับเปลี่ยนพื้นที่ทางสถานีพัฒนาที่ดินตรังก็ได้เข้ามาส่งเสริมให้ความรู้ในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพื้นที่อยู่ตลอด นายสุชล แก้วเกาะสะบ้า ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินตรัง กล่าวว่า จังหวัดตรัง เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ ทำสวนยางพารา รองลงมา คือ ปาล์มน้ำมัน รวมทั้งมีไม้ผล พืชไร่ และนาข้าว แต่นาข้าวค่อนข้างที่จะน้อยเนื่องจากทุกวันนี้เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนไปเป็นปาล์มน้ำมันและยางพารา ทางสถานีพัฒนาที่ดินตรังจึงพยายามให้พี่น้องได้มีการจัดระบบในการปลูกพืชตั้งแต่เริ่มต้นทั้งเรื่องของการอนุรักษ์ดินและน้ำ ปุ๋ยอนุรักษ์น้ำในพื้นที่ที่มีความลาดชันก็จะจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำโดยวิธีกลหรือวิธีพืชเพื่อที่จะรักษาหน้าดินนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรได้อย่างยั่งยืนตลอดไป ด้าน นางสาวสายใจ หมื่นภักดี นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถานีพัฒนาที่ดินตรัง กล่าวว่า ลักษณะสภาพดินของแปลงนายพัฒนา เป็นดินที่ลุ่มหังจากฝนตกจะมีน้ำท่วมขัง เมื่อก่อนนายพัฒนา ปลูกยางพารา เนื่องจากมีราคาสูง และชาวบ้านก็หันมาปลูกยางพารากันแทบทุกพื้นที่ ทำให้ประสบปัญหายางพารา ราคาตกต่ำ จนกระทั่งทางสถานีพัฒนาที่ดินตรังได้เข้ามาบรรยายประจำที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมแล้วพี่พัฒนาก็ได้เข้าร่วมอบรมจนนำไปปรับเปลี่ยนพื้นที่ของตนเริ่มแรกมีการทดลองล้มยางนิดนึงก่อนและไถยกดินขึ้นมาเพื่อปลูกฝรั่ง หลังจากที่ทดลองปลูกในรอบแรกมีผลตอบแทนดีกว่าการปลูกยางพาราจึงปรับเปลี่ยนมาปลูกฝรั่งทั้งหมด 8 ไร่ ขณะที่ นายพัฒนา ทองขาวเผือก เกษตรกรบ้านคลองขามเหนือ กล่าวว่า เริ่มแรกได้ไปอบรมที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หลังจากอบรมเสร็จก็กลับมาคิดและปรึกษากับภรรยาอยู่ 1 คืน ก็เลยเริ่มล้มต้นยางไปก่อน 2 ไร่ ประมาณ100 กว่าต้น ทดลองมา 2-3 ปี ก็ได้ผลดีเลยลงเลยลงแปลงใหญ่ และมีเจ้าหน้าที่จากสถานีพัฒนาที่ดินตรังเข้ามา ส่งเสริมให้ทำปุ๋ยหมัก น้ำหมัก เราก็เอาไปทดลองดูก็ใช้ได้ดีแล้วก็ลดต้นทุนได้เยอะจากที่แต่ก่อนใช้สารเคมีทั้งต้นทนสูงและส่งผลเสียต่อสุขภาพ การทำสวนฝรั่ง มีเทคนิคในการเก็บผลผลิตแตกต่างจากเกษตรกรรายอื่น โดยจะนำถุงที่มีสีต่างกันมาห่อผลฝรั่ง เพื่อสะดวกต่อการเก็บแต่ละรอบ ถุงแต่ละสีจะทิ้งระยะเวลาห่างกันในการห่อประมาณ 15 วัน เช่น ถุงสีขาวถ้าผลผลิตพร้อมเก็บขายแล้วก็สามารถเก็บสีขาวทั้งหมดได้เลย โดยถุงสีอื่นๆ จะรอเก็บรอบถัดไป ลูกไหนผิวสวยราคาขายจะอยู่ที่ 3 กิโลกรัม 100 บาท แต่ถ้าลูกไหนผิวมีตำหนิก็จะขายในราคาที่ต่ำกว่า จากการที่พี่พัฒนาได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกฝรั่งพร้อมกับทางกรมพัฒนาที่ดินเข้ามาส่งเสริมอยู่ตลอด ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและเป็นแบบอย่างให้หมู่บ้านข้างเคียงหันมาสนใจการใช้ปุ๋ยชีภาพจากกรมพัฒนาที่ดินในแปลงเกษตรมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิต กระทั่ง รวมกลุ่มกันทำปุ๋ยหมักสูตรต่างๆและแจกจ่ายกันใช้ในชุมชนอีกด้วย