กรมชลประทาน ยันเขื่อนทั่วประเทศรับน้ำฝนได้อีก 3.5 หมื่นล้านลบ.ม. พร้อมปรับเกณฑ์กักเก็บน้ำใหม่ทุกเขื่อน 437 แห่ง เน้นบริหารอ่างน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ เมื่อวันที่ 27 พ.ค.62 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงกรณีนายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปีนี้ว่า กรมฯ ได้ปรับเกณฑ์ปฏิบัติการ- อ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ของอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน 437 แห่งทั่วประเทศแล้ว ซึ่งจะปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ข้อมูลสถิติ เงื่อนไขการใช้น้ำและขีดความสามารถรับน้ำของลำน้ำด้านท้าย พร้อมกำหนดให้มีเส้นเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำอ้างอิงแบบระยะยาว และเส้นเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำแบบระยะสั้นของแต่ละปี ตามการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งหมดเกิดประสิทธิภาพสูงสุด “อ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ สามารถรับน้ำช่วงฤดูฝนรวมกันได้มากกว่า 3.5 หมื่นล้าน ลบ.ม. จึงรองรับปริมาณน้ำหลากช่วงฤดูฝนได้เต็มที่ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีอ่างเก็บน้ำหลายแห่งที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อยหรือต่ำกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ ซึ่งต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ เพื่อให้เพียงพอจนกว่าจะเข้าฤดูฝนปกติ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 12 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำลำพระ อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ่างเก็บน้ำลำปาว อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ อ่างเก็บน้ำทับเสลา อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา และอ่างเก็บน้ำลำนางรอง รวมทั้งยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 149 แห่งทั่วประเทศ ที่มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ไม่ถึงร้อยละ 30 หากมีฝนตกลงมาอ่างเก็บน้ำเหล่านี้จะรองรับปริมาณน้ำรวมกันได้มากพอควรเช่นกัน”อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว นอกจากนี้ กรมฯ ยังวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแก้มลิงธรรม ชาติตามศาสตร์พระราชา โดยดำเนินโครงการบางระกำโมเดลปีนี้เป็นปีที่ 3 ด้วยการปรับเปลี่ยนปฏิทินปลูกข้าวใหม่ ให้เก็บเกี่ยวได้ก่อนน้ำหลาก จากนั้นจะใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำ พร้อมขยายผลมาดำเนินการในลักษณะเดียวกันในพื้นที่ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง เมื่อรวมปริมาณน้ำที่ทุ่งบางระกำ และ 12 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างแล้ว จะทำให้รองรับน้ำหลากได้มากกว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม. หรือเท่ากับปริมาณความจุของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์รวมกัน ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาได้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่ฤดูฝนปีนี้ กรมฯ ยังได้จัดทำฐานข้อมูลและมาตรการบริหารจัดการน้ำของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก พร้อมกำหนดสถานีหลัก Key Station) เพื่อบริหารจัดการน้ำและเฝ้าระวัง รวมทั้งได้ขุดลอกคูคลอง กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยเฉพาะผักตบชวาและวัชพืช ตลอดจนตรวจสอบอาคารชลประทานให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ และเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลต่างๆ ที่ออกปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนทุกพื้นที่ได้ตลอดเวลา ส่วนผลการจัดสรรน้ำหลังสิ้นสุดฤดูแล้ง (ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2561-30 เมษายน 2562) พบว่า การใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แม้ใช้น้ำเกินแผนไปบ้างแต่ไม่มาก ซึ่งจะอยู่ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นส่วนใหญ่ เดิมกรมชลประทานจัดสรรน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งประมาณ 8พันล้าน ลบ.ม. เมื่อสิ้นสุดฤดูแล้งเดือนเมษายน ปรากฏว่าลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปทั้งสิ้น 9พันล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม ยังมีน้ำคงเหลือที่จะใช้ได้ต่อเนื่องช่วงต้นฤดูฝนอีกกว่า 5พันล้าน ลบ.ม. รวมไปถึงการใช้น้ำในช่วงที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมด้วย