ที่ประชุม กพอ.เห็นชอบเสนอครม.อนุมัติลงนามเอกชนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่เกินเดือนมิ.ย.62 พร้อมจัดทำ Big Data ด้านสาธารณสุข ในอีอีซีเชื่อมโยงข้อมูลเป็นระบบ รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 5/2562 วันที่ 27 พ.ค.62 มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาและรับทราบความคืบหน้า ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)เริ่มจาก1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ในฐานะหน่วยงานหลักร่วมกันรับผิดชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้ดำเนินการส่งร่างสัญญาทั้งหมด พร้อมเอกสารแนบท้ายวาระครบถ้วน ให้กับ กพอ. พิจารณาร่วมกันอีกครั้งก่อนให้ รฟท.ลงนามสัญญากับเอกชนที่ได้รับคัดเลือก โดย สกพอ. ได้มีหนังสือขอความเห็นจาก กพอ.เมื่อวันที่ 22 พ.ค.62 และในวันที่ 24 พ.ค.62 กพอ.ได้ตอบกลับโดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของร่างสัญญาดังกล่าว ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการร่วมลงทุน โดยคาดว่า รฟท.จะสามารถลงนามและได้เอกชนร่วมทุน ประมาณเดือน มิถุนายน 2562 2.การจัดทำ Big Data ด้านสาธารณสุข ใน EEC ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ หรือ Government Big Data Institute (GBDi) โดยอาศัยกลไกการวิเคราะห์ สังเคราะห์ที่เรียกว่า Big Data Analytics ซึ่งจะสร้างให้เกิดประโยชน์ข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม เพิ่มศักยภาพการจัดเก็บ เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนอย่างเป็นระบบและใช้ในเชิงวิเคราะห์ โดยทีมงานสถาบันฯ ได้เริ่มพัฒนากรอบแนวทางด้านข้อมูล เพื่อการจัดสรรทรัพยากรด้านบริการสุขภาพให้เหมาะสมตรงกับความต้องการ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงจุด เพื่อยกระดับการบริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่ EEC โดยกรอบดำเนินการระยะสั้นจะเน้นเรื่องการนำข้อมูลสุขภาพที่มีอยู่แล้วเช่น ข้อมูลการเบิกจ่ายประกันสุขภาพจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานการสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ข้อมูลประวัติผู้ป่วยของสถานบริการที่มีความพร้อม และข้อมูลประชากร ตำแหน่งที่ตั้งโรงงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมาวิเคราะห์และจัดทำระบบนำร่อง เพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลเบื้องต้น เน้นปัญหาการจัดสรรทรัพยากรสุขภาพ และความเสี่ยงการเป็นโรค เป็นต้น และเพื่อให้เกิดรูปธรรมในการดำเนินงาน คาดว่าในช่วงเดือนมิ.ย.62ทางสถาบันฯ จะนำผลวิเคราะห์การกระจายตัวของข้อมูล ปรึกษากับกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. เพื่อพัฒนาโมเดลคณิตศาสตร์เชิงทำนายต่อไป และเพื่อให้ความยั่งยืนในการใช้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ และขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ สถาบันฯได้เริ่มจัดรายการข้อมูลทางด้านสาธารณสุขสำคัญๆทั้งข้อมูลที่มีอยู่และข้อมูลที่ยังไม่มีการจัดเก็บ เพื่อเตรียมสำหรับเชื่อมโยงข้อมูลการวิเคราะห์ในระยะยาวต่อไป